26 May 2009

พระพุทธประวัติ (๓) ออกผนวชและบำเพ็ญเพียร


ออกผนวช
เมื่อเสด็จข้ามพระนครไปแล้ว ขณะนั้นพญามารวัสวดี ผู้มีจิตบาป เห็นพระสิทธัตถะสละราชสมบัติ เสด็จออกจากพระนคร เพื่อบรรพชา จะล่วงพ้นบ่วงของอาตมาซึ่งดักไว้ จึงรีบเหาะมาประดิษฐานลอยอยู่ในอากาศ ยกพระหัตถ์ขึ้นร้องห้ามว่า ดูกร พระสิทธัตถะ ท่านอย่ารีบร้อนออกบรรพชาเสียก่อนเลย ยังอีก ๗ วันเท่านั้น ทิพยรัตนจักรก็จะปรากฏแก่ท่าน แล้วท่านก็จะได้เป็นองค์บรมจักรพรรดิ์ เสวยสมบัติเป็นอิสราธิบดี มีทวีใหญ่ทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ขอท่านจงนิวัตนาการกลับคืนเข้าพระนครเถิด

พระสิทธัตถะจึงตรัสว่า ดูกรพญามาร แม้เราก็ทราบแล้วว่า ทิพยรัตนจักรจะเกิดขึ้นแก่เรา แต่เราก็มิได้มีความต้องการด้วยสมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น เพราะแม้สมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น ก็ตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ ไม่อาจนำผู้เสวยให้พ้นทุกข์ได้ ท่านจงหลีกไปเถิด เมื่อทรงขับพญามารให้ถอยไปแล้ว ก็ทรงขับม้ากัณฐกะราช ชาติมโนมัยไปจากที่นั้น บ่ายหน้าสู่มรรคา เพื่อข้ามให้พ้นเขตราชเสมาแห่งกบิลพัสดุ์บุรี เหล่าเทพยดาก็ปลาบปลื้มยินดี บูชาด้วยบุบผามาลัยมากกว่ามาก บ้างก็ติดตามห้อมล้อมถวายการรักษาพระมหาบุรุษเจ้าตลอดไป
พอจวนเวลาใกล้รุ่งปัจจุสมัย ก็บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที ก็ทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตบุรีกบิลพัสดุ์แล้ว ก็เสด็จลงจากหลังอัสวราช ประทับนั่งเหนือหาดทรายอันขาวสะอาด รับสั่งแก่นายฉันนะว่า เราจักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิตในที่นี้ ท่านจงเอาเครื่องประดับของอาตมากับม้าสินธพกลับพระนครเถิด ครั้นตรัสแล้วก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับสำหรับขัตติยราชทั้งหมดมอบให้แก่นายฉันนะ ตั้งพระทัยปรารถนาจะทรงบรรพชา จึงทรงดำริว่า เกศาของอาตมานี้ ไม่สมควรแก่สมณเพศ จึงทรงจับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ ตัดพระโมลีให้ขาดออกเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง แล้วทรงจับพระโมลีนั้นขว้างขึ้นไปบนอากาศ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณโดยแท้แล้ว ขอจุฬาโมลีนี้ จงตั้งอยู่ในอากาศ อย่าได้ตกลงมา ทว่าจะมิได้บรรลุสิ่งซึ่งต้องประสงค์ ก็จงตกลงมายังพื้นพสุธา ในทันใดนั้น จุฬาโมฬีก็มิได้ตกลงมา คงลอยอยู่ในอากาศ จึงสมเด็จพระอัมรินทราธิราชก็เอาผอบแก้วมารองรับไว้ แล้วนำไปบรรจุยังจุฬามณีเจดีย์สถาน ในเทวโลก

ขณะนั้น ฆฏิการพรหม ก็น้อมนำไตรจีวรและบาตร มาจากพรหมโลกเข้าไปถวาย พระสิทธัตถะทรงรับผ้าไตรจีวรกาสาวพัสตร์และบาตรแล้ว ก็ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต อุดมเพศ แล้วทรงมอบผ้าทรงเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์เพศทั้งคู่ ให้แก่ฆฏิการพรหม ๆ ก็น้อมรับผ้าคู่นั้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ ในพรหมโลกสถาน.

เมื่อพระมหาบุรุษเจ้าทรงบรรพชาแล้ว จึงดำรัสสั่งนายฉันนะ อำมาตย์ว่า ท่านจงเป็นธุระนำอาภรณ์ของอาตมากลับเข้าไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ แจ้งข่าวแก่ขัตติยสกุลทั้งหลายอันยังมิได้รู้เหตุ แล้วกราบทูลพระปิตุเรศ และพระราชมาตุจฉาว่า พระโอรสของพระองค์หาอันตรายโรคาพยาธิสิ่งใดมิได้ บัดนี้บรรพชาแล้ว อย่าให้พระองค์ทรงทุกข์โทมนัสถึงพระราชบุตรเลย จงเสวยภิรมย์ราชสมบัติให้เป็นสุขทุกอิริยาบถเถิด เมื่ออาตมาได้บรรลุพระสัพพัญญุญาณแล้ว จะได้ไปเฝ้าพระราชบิดา พระมารดา กับทั้งพระประยูรญาติขัตติยวงศ์ทั้งมวล ท่านจงกลับไปกราบทูลข่าวสารด้วยประการฉะนี้

นายฉันนะ อำมาตย์ รับพระราชโองการแล้ว ก็ถวายบังคมลาแทบพระยุคลบาท มิอาจจะกลั้นโศกาอาดูรได้ มิอยากจะจากไปด้วยความเสน่หาอาลัยเป็นที่ยิ่ง รู้สึกว่าเป็นโทษหนักที่ทอดทิ้งให้พระมหาบุรุษเจ้าอยู่แต่พระองค์เดียว แต่ก็ไม่อาจขัดพระกระแสรับสั่งได้ จำต้องจากพระมหาบุรุษเจ้าไปด้วยความสลดใจสุดจะประมาณ นำเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้าทั้งหมด เดินทางพร้อมกับม้ากัณฐกะสินธวชาติ กลับพระนครกบิลพัสดุ์ พอเดินทางไปได้ชั่วสุดสายตาเท่านั้น ม้ากัณฐกะก็ขาดใจตาย ด้วยความอาลัยในพระมหาบุรุษเจ้าสุดกำลัง

เมื่อนายฉันนะกลับไปถึงพระนคร ชาวเมืองทั้งปวงก็โจษจันกันอึงมี่ ว่านายฉันนะอำมาตย์กลับแล้ว ต่างก็รีบไปถามข่าว มวลหมู่อำมาตย์ทราบความก็บอกเล่ากันต่อ ๆ ไป ตราบจนนายฉันนะอำมาตย์เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะราช ถวายเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้า แล้วกราบทูลความตามที่พระมหาบุรุษเจ้าสั่งมาทุกประการ

ครั้นพระราชบิดา พระมาตุจฉา พระนางพิมพา ตลอดจนขัตติยราช ได้สดับข่าวก็ค่อยคลายความโศกเศร้า และต่างก็ตั้งหน้าคอยสดับข่าวตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ของพระมหาบุรุษสืบไป ตามคำพยากรณ์ที่อสิตดาบส และพราหมณ์ทั้งหลายทูลถวายไว้แต่ต้นนั้น

ปัญจวัคคีย์ออกบวชตาม
ฝ่ายโกณฑัญญะพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชาแล้วก็ดีใจ รีบไปหาบุตรของเพื่อนพราหมณ์ทั้ง ๗ คน ที่ร่วมคณะถวายคำทำนายพระลักษณะด้วยกัน กล่าวว่า บัดนี้พระสิทธัตถะกุมารเสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ ไม่มีข้อที่จะสงสัย ถ้าบิดาของท่านทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ก็จะออกบรรพชาด้วยกันในวันนี้ ผิว่าท่านทั้งหลายปรารถนาจะบวช ก็จงมาบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด แต่บุตรพราหมณ์ทั้ง ๗ นั้น หาได้พร้อมใจกันทั้งสิ้นไม่ ยินดีรับยอมบวชด้วยเพียง ๔ คน โกณฑัญญะพราหมณ์ก็พาพราหมณ์มานพทั้ง ๔ ออกบรรพชา เป็น ๕ คนด้วยกัน จึงได้นามว่า พระปัญจวัคคีย์ เพราะมีพวก ๕ คน ชวนกันออกสืบเสาะติดตามพระมหาบุรุษเจ้า

ส่วนพระมหาบุรุษหลังแต่ทรงบรรพชาแล้ว เสวยบรรพชาสุขอยู่ ณ ที่ป่าไม้มะม่วงตำบลหนึ่ง มีนามว่า อนุปิยอัมพวัน เว้นเสวยพระกระยาหารถึง ๗ วัน ครั้นวันที่ ๘ จึงเสด็จดำเนินจากอนุปิยอัมพวันเข้าไปบิณฑบาตรในกรุงราชคฤห์ โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวร สมควรแก่ภาวะของสมณะ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของทุกคนที่ได้เห็น เมื่อได้บิณฑภัตรพอแก่ยาปนมัตถ์ ก็เสด็จกลับจากพระนคร โดยเสด็จออกจากทางประตูที่แรกเสด็จเข้าไป ตรงไปยังมัณฑวะบรรพต มีหน้าผาเป็นที่ร่มเย็น ควรแก่สมณวิสัย ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ทรงปรารภจะเสวยอาหารในบาตร ทอดพระเนตรเห็นบิณฑาหารในบาตร ไม่สะอาด ไม่ประณีต หารสกลิ่นอันควรแก่การเสวยมิได้ เป็นอาหารเลว ที่พระองค์ไม่เคยทรงเสวยมาแต่ก่อน ก็บังเกิดปฏิกูล น่ารังเกียจเป็นที่ยิ่ง

ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสสอนพระองค์เองว่า "สิทธัตถะ ตัวท่านบังเกิดในขัตติยสุขุมาลชาติ เคยบริโภคแต่อาหารปรุงแต่งด้วยสุคันธชาติโภชนสาลี อันประกอบด้วยสูปพยัญชนะมีรสอันเลิศต่าง ๆ ไฉนท่านจึงไม่รู้สึกตนว่า เป็นบรรพชิตเห็นปานฉะนี้ และเที่ยวบิณฑบาตร อย่างไรจะได้โภชนาหารอันสะอาดประณีตมาแต่ที่ใดเล่า และบัดนี้ ท่านสมควรจะคิดอย่างไรแก่อาหารที่ได้มานี้" ครั้นให้โอวาทแก่พระองค์ฉะนี้แล้ว ก็มนสิการในปฏิกูลสัญญา พิจารณาอาหารบิณฑบาตรด้วยปัจจเวกขณ์ และปฏิกูลปัจจเวกขณ์ ด้วยพระปรีชาญาณสมบูรณ์ด้วยพระสติดำรงมั่น ทรงเสวยมิสกาหารบิณฑบาตรอันนั้น ปราศจากความรังเกียจดุจอมฤตรส และทรงกำหนดในพระทัยว่า ตั้งแต่ทรงบรรพชามาได้ ๘ วัน เพิ่งได้เสวยภัตตาหารในวันนี้

ครั้นพวกราชบุรุษได้เห็นพระมหาบุรุษในขณะเสด็จบิณฑบาต ก็นำความไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร ราชาธิบดีแห่งแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งให้สะกดรอยติดตาม เพื่อทราบความเท็จจริงของบรรพชิตพิเศษรูปนี้ ครั้นพวกราชบุรุษติดตามได้ความจริงแล้ว ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงมคธให้ทรงทราบ

พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงสดับ ก็มีพระทัยโสมทัสในพระคุณสมบัติ ทรงพระประสงค์จะได้พบ จึงเสด็จด้วยพระราชยานออกจากพระนครโดยด่วน ครั้นถึงบัณฑวะบรรพต ก็เสด็จลงจากราชยาน เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเฝ้าพระมหาบุรุษเจ้า เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระอิริยาบถเรียบร้อย อยู่ในสมณสังวร ก็ยิ่งหลากพระทัย ทรงเลื่อมใสในปฏิปทาของพระมหาบุรุษ ครั้นได้ทูลถามถึงตระกูล ประเทศ และพระชาติ เมื่อทรงทราบว่าเป็นขัตติยศากยราชเสด็จออกบรรพชา ก็ทรงดำริว่า ชะรอยพระมหาบุรุษจะทรงพิพาทกับพระประยูรญาติ ด้วยเรื่องพระราชสมบัติเป็นแม่นมั่น จึงได้เสด็จออกบรรพชา ซึ่งเป็นธรรมดาของนักพรต ที่ออกจากราชตระกูลบรรพชาแต่กาลก่อน จึงได้ทรงเชื้อเชิญพระมหาบุรุษด้วยราชสมบัติ ซึ่งพระองค์ยินดีจะแบ่งถวายให้เสวยสมพระเกียรติทุกประการ

พระมหาบุรุษจึงตรัสตอบขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งมีพระทัยกอรปด้วยพระเมตตา แบ่งสิริราชสมบัติพระราชทานให้ครอบครอง แต่พระองค์มิได้มีความประสงค์จำนงหมายเช่นนั้น ทรงสละราชสมบัติออกผนวช เพื่อมุ่งหมายพระสัพพัญญุตญาณโดยแท้

พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับ ก็ตรัสอนุโมทนา และทูลขอปฏิญญากะพระมหาบุรุษว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ขอได้ทรงพระกรุณาเสด็จมายังพระนครราชคฤห์ แสดงธรรมโปรด ครั้นพระมหาบุรุษทรงรับปฏิญญาแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับเข้าพระนคร

ลำดับนั้น พระมหาบุรุษก็เสด็จจาริกจากที่นั้น ไปสู่สำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ซึ่งสร้างอาศรมอยู่ในพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ขอพำนักศึกษาวิชาและข้อปฏิบัติอยู่ ทรงศึกษาอยู่ไม่นาน ก็ได้สำเร็จสมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ สิ้นความรู้ของอาฬารดาบส ทรงเห็นว่าธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาอาฬารดาบส ไปสู่สำนักอุทกดาบส รามบุตร ขอพำนักศึกษาอยู่ด้วย ทรงศึกษาไดอรูปฌาน ๔ ครับสมาบัติ ๘ สิ้นความรู้ของอุทกดาบส ครั้นทรงไตร่ถามถึงธรรมวิเศษขึ้นไป อุทกดาบสก็ไม่สามารถจะบอกได้ และได้ยกย่องตั้งพระมหาบุรุษไว้ในที่เป็นอาจารย์เสมอด้วยตน แต่พระมหาบุรุษทรงเห็นว่า ธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาอาจารย์ออกแสวงหาธรรมวิเศษสืบไป ทั้งมุ่งพระทัยจะทำความเพียรโดยลำพังพระองค์เดียว ได้เสด็จจาริกไปยังมคธชนบท บรรลุถึงตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ราบรื่น แนวป่าเขียวสด เป็นที่เบิกบานใจ แม่น้ำไหล มีน้ำใสสะอาด มีท่าน่ารื่นรมณ์ โคจรคาม คือ หมู่บ้านที่อาศัยเที่ยวภิกษาจาร ก็ตั้งอยู่ไม่ไกล ทรงเห็นว่าประเทศนั้น ควรเป็นที่อาศัยของกุลบุตรผู้มีความต้องการด้วยความเพียรได้ จึงเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น

ส่วนบรรพชิตทั้ง ๕ อันมีนามว่า ปัญจวัคคีย์ คือ พระโกณทัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ พากันเที่ยวติดตามพระมหาบุรุษในที่ต่าง ๆ จนไปประสบพบพระมหาบุรุษยังตำบลอุรุเวลา เสนานิคม จึงพากันเข้าไปถวายอภิวาทแล้วอยู่ปฏิบัติบำรุง จัดทำธุระกิจถวายทุกประการ โดยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดตนบ้าง

ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา (ทรมานตน)
พระมหาบุรุษทรงเริ่มทำทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นปฏิปทาที่นิยมว่าเป็นทางให้ตรัสรู้ได้ในสมัยนั้น โดยทรมานพระกายให้ลำบาก ซึ่งเป็นกิจยากที่บุคคลจะกระทำได้ ด้วยการทรมานเป็น ๓ วาระ ดังนี้

วาระแรก ทรงกดพระทนต์(ฟัน)ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ(เพดานปาก)ุด้วยพระชิวหา(ลิ้น)ไว้ให้แน่น จนพระเสโท(เหงื่อ)ไหลจากพระกัจฉะ(รักแร้) ในเวลานั้นได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง จับบุรุษมีกำลังน้อยไว้ที่ศรีษะ หรือที่คอ บีบให้แน่น ฉะนั้น แม้พระกายจะกระวนกระวายไม่สงบระงับอย่างนี้ ทุกขเวทนานั้นก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย พระองค์มีพระสติมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ท้อถอย ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนั้น ไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป

วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสสะ(ลมหายใจเข้าออก) เมื่อลมไม่ได้ทางเดินสะดวก โดยช่องพระนาสิก(จมูก)และช่องพระโอฐ(ปาก) ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณ(หู)ทั้งสอง ให้ปวดพระเศียร(หัว) ร้อนในพระกายเป็นกำลัง แม้จะได้เสวยทุกขเวทนากล้าถึงเพียงนี้ ทุกขเวทนานั้น ก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย มีพระสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนี้ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ ก็ทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป

วาระที่ ๓ ทรงอดพระอาหาร ผ่อนเสวยแต่วันละน้อย ๆ บ้าง เสวยอาหารละเอียดบ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี(ผิว)เศร้าหมอง พระอัฏฐิ(กระดูก)ปรากฏทั่วพระกาย เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระโลมามีรากเน่าร่วงจากขุมพระโลมา พระกำลังน้อยถอยลง จะเสด็จไปข้างไหนก็ซวนเซล้ม วันหนึ่งทรงอ่อนพระกำลัง อิดโรยโหยหิวที่สุด จนไม่สามารถจะทรงพระกายไว้ได้ ก็ทรงวิสัญญีภาพ(สลบ)ล้มลงในที่นั้น

ขณะนั้น เทพยดาองค์หนึ่งสำคัญผิดคิดว่า พระมหาบุรุษดับขันธ์ทิวงคตแล้ว จึงรีบไปยังพระปราสาทพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ทูลว่า บัดนี้ พระสิทธัตถะกุมารพระราชโอรสของพระองค์ สิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งถามว่า พระโอรสของเราได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือยัง เป็นประการใด เทพยดาก็ตอบว่า ยังมิทันได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ท้าวเธอไม่ทรงเชื่อ จึงรับสั่งว่า จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ หากพระโอรสของเรายังมิได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะด่วนทำลายพระชนม์ชีพหามิได้เลย แล้วเทพดาองค์นั้นก็อันตรธานจากพระราชนิเวศน์ไป

ทรงเปลี่ยนวิธีดำเนินมัชฌิมาปฎิปทา(ทางสายกลาง)
ส่วนพระมหาบุรุษ เมื่อได้ซึ่งสัญญาฟื้นพระกายกุมพระสติให้ตั้งมั่น พิจารณาดูปฏิปทาในทุกกรกิริยาที่ทำอยู่ ทรงดำริว่า ถึงบุคคลทั้งหลายใด ๆ ในโลกนี้ จะทำทุกกรกิริยาอย่างอุกฤษฐ์นี้ บุคคลนั้น ๆ ก็ทำทุกกรกิริยาเสมออาตมาเท่านั้น จะทำให้ยิ่งกว่าอาตมาหามิได้ แม้อาตมาปฏิบัติอย่างอุกฤษฐ์อย่างนี้แล้ว ไฉนหนอจึงยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ ชรอยทางตรัสรู้จะมีเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างนี้เป็นแน่ เกิดพระสติหวลระลึกถึงความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางตรัสรู้ได้บ้าง

ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธราชทรงทราบข้อปริวิตกของพระมหาบุรุษดังนั้น จึงทรงซึ่งพิณทิพย์สามสายมาดีดถวายพระมหาบุรุษ สายหนึ่งตึงนัก พอดีดไปหน่อยก็ขาด สายหนึ่งหย่อนนัก ดีดเข้าก็ไม่บันลือเสียง อีกสายหนึ่ง ไม่ตึงไม่หย่อนพอปานกลาง ดีดเข้าก็บันลือเสียงไพเราะเจริญใจ พระมหาบุรุษได้สดับเสียงพิณทรงหวลระลึกถึง พิณที่เคยทรงมาแต่ก่อน ก็ทรงตระหนักแน่ ถือเอาเป็นนิมิต ทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า ทุกกรกิริยามิใช่ทางตรัสรู้แน่ทางแห่งพระโพธิญาณที่ควรแก่การตรัสรู้ ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา บำเพ็ญเพียรทางจิต ปฏิบัติปานกลาง ไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก จึงใคร่จะทรงตั้งปณิธานทำความเพียรทางจิต ทรงเห็นว่าความเพียรทางจิตเช่นนั้น คนซูบผอมหากำลังมิได้เช่นอาตมานี้ ย่อมไม่สามารถจะทำได้ จำจะหยุดพักกินอาหารข้น คือ ข้าวสุก ขนมสด ให้มีกำลังดีก่อน ครั้นตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็กลับเสวยพระอาหารตามเดิม

0 comments:

Post a Comment

free counters