25 May 2009

“พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น”


พระพุทธศาสนาได้แพร่หลายจากประเทศเกาหลีเข้าไปสู่ดินแดนประเทศญี่ปุ่น ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ในสมัยแผ่นดินของพระเจ้าจักรพรรดิ กิมเมอิ (จักรพรรดิองค์ที่ ๒๙ ของญี่ปุ่น) เนื่องจากวัฒนธรรมสมัยนั้นของญี่ปุ่นยังอยู่ระดับต่ำมาก ศาสนาชินโตก็เพิ่งจะเริ่มก่อตั้งขึ้น มีหลักปรัชญาและหลักคำสอนที่ไม่สามารถจะเปรียบเทียบกับหลักปรัชญาและหลักคำสอนของพุทธศาสนาได้ พระจักรพรรดิกิมเมอิจึงรับเอาศาสนาพุทธเข้าประเทศญี่ปุ่น แต่ที่ปรึกษาฝ่ายการทหารและฝ่ายทางลัทธิชินโตไม่เห็นด้วย พยายามขัดขวางการเผยแพร่ของศาสนาพุทธทุกวิถีทาง



เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำพระพุทธศาสนาไม่สามารถแพร่หลายออกไปในหมู่ชนชั้นต่าง ๆ ต่อมา ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พระเจ้าจักรพรรดิ โยเม (จักรพรรดิองค์ที่ ๓๑) ได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูปยากุชินโยโร (ได้แก่พระพุทธรูปตถาคตไภษัชยคุรุ) พระพุทธรูปองค์นี้สร้างเสร็จหลังจากที่พระองค์สวรรคตแล้ว ๒๐ ปี และปัจจุบันอยู่ในวัดโฮระยูจิ (วัดนี้มีชื่อเสียงมากและเป็นสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยไม้เก่าแก่ที่สุดในโลก)

พระพุทธศาสนาเริ่มแพร่หลายในหมู่ชุมชน เมื่อพระเจ้าจักรพรรดินีซุยโกะ (เป็นพระน้องนางของพระเจ้าจักรพรรดิโยเม และมีเจ้าชายโชโตกุซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าจักรพรรดิโยเม เป็นผู้สำเร็จราชการ รวมทั้งรับตำแหน่งรัชทายาทของพระจักรพรรดินีซุยโกะ) ขึ้นครองราชย์ พระนาง ซุยโกะได้ตราพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยให้ยึดถือเป็นนโยบายของประเทศ ประกอบกับผู้สำเร็จราชการคือ เจ้าชายโชโตกุ ได้พิจารณาเห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งความคิดที่ก่อให้เกิดปัญญา พระองค์ได้พยายามส่งเสริมฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ในทุกวิถีทาง เจ้าชายโชโตกุถือว่าเป็นพระเจ้าอโศกแห่งประเทศญี่ปุ่นก็ว่าได้ พระองค์ได้ส่งคณะทูตและนักศึกษาไปยังประเทศจีน เพื่อศึกษาค้นคว้าหลักธรรมของพระพุทธศาสนากับวัฒนธรรมอื่น ๆ ของจีน เพื่อหวังประโยชน์ที่จะนำมาปรับปรุงประเทศญี่ปุ่นต่อไป
การปฏิรูปสังคมและวัฒนธรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศญี่ปุ่นอย่างคาดไม่ถึง กฎหมายที่ประกาศใช้ในราชการนี้ล้วนแต่มีอิทธิพลของพระพุทธศาสนาเป็นยาดำปนอยู่เป็นอันมาก และเจ้าชายโชโตกุยังประกาศพระบรมราชโองการอุปถัมภ์พระรัตนตรัยอย่างเป็นทางการอีกด้วย ศาสนาพุทธจึงได้รับความนิยมแพร่หลายกลายเป็นศาสนาประจำชาติโดยปริยาย ยุคนี้นับเป็นยุคที่ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นมีความเจริญมากยิ่งกว่ายุคใด ๆ มีการส่งคณะทูตไปประเทศจีนหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ได้อัญเชิญพระไตรปิฎก และนำอารยธรรมของชาวจีนกลับมาด้วย พระสูตร พระวินัย พระธรรมอื่น ๆ จำนวนมากมาย และเจ้าชายโชโตกุได้ทรงเริ่มงานเกี่ยวกับพระสูตรโดยเขียนเป็นอรรถกถาอธิบายไว้ อรรถกถาชุดนี้มีอยู่ ๓ เล่ม เรียกรวมกันว่า “ซันเกียวคิโช” อันได้แก่ ยุยมาเกียว โชมันเกียว และโฮกเกเกียว ทั้ง ๓ เล่มแบ่งออกเป็น ๘ บรรพ เป็นตำราทางพระพุทธศาสนาชุดแรก ที่เขียนเป็นภาษาญี่ปุนและสูตรอรรถกถาอีก ๓ เล่ม มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นมาก เล่มแรกคือ ยุยมาเกียว เป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับฝ่ายมหายาน ส่วน ๒ เล่มหลังเกี่ยวกับคำอธิบายหลักคำสอนทางเอกยานโดยเฉพาะ
เอกยาน หมายถึงวิถีชีวิตไม่ว่าจะมีสภาพใด ก็สามารถจะตรัสรู้ได้ โดยไม่มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่มีชีวิต เอกยานมีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ พุทธภาวะอันเที่ยงแท้ แต่พุทธภาวะนี้อยู่เหนือกาละ และเทศะ เพราะเป็นธรรมหรือกฎนิรันดรมีอยู่ในตัวเองไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เกิดและไม่ตาย และเป็นจุดประสงค์สุดท้ายของมนุษย์ที่แสวงหาทางการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงพุทธภาวะอันเที่ยงแท้ ตามคำอธิบายของเอกยานกล่าวว่า ทุกคนไม่ว่าจะถือเพศคฤหัสถ์หรือเพศบรรพชิตสามารถปฏิบัติได้ โดยไม่ถือเป็นข้อแตกต่างแต่อย่างใด กล่าวคือการปฏิบัติตามลัทธิเอกยานนั้นสามารถปฏิบัติได้ทุกโอกาส โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งเพศฆราวาสออกถือสันโดษบวชเป็นบรรพชิตแต่อย่างใด คำอธิบายนี้มีอิทธิพลต่อพระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นมาก จนกลายมาเป็นวิวัฒนาการทางศาสนาอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่ซ้ำประเทศใด ๆ และพระพุทธศาสนาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเข้าญี่ปุ่นก็มีพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ แพร่หลายเข้ามาอย่างไม่ขาดระยะ นิกายส่วนใหญ่เป็นนิกายมหายาน หลักธรรมการปฏิบัติจึงค่อนข้างหนักไปทางฝ่ายมหายาน
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ศาสนาชินโตที่เคยขัดแย้งกับพระพุทธศาสนาแต่เริ่มแรก ได้ค่อย ๆ ปรับแนวความคิด หลักปรัชญาให้ผสมกลมกลืนกับพระพุทธศาสนา มีการอธิบายพระเจ้าของชินโตว่าเป็นพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธนั่นเอง ประชาชนของญี่ปุ่นจึงมีความเคารพนับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาชินโตควบคู่กันไป สังเกตได้จากโบสถ์ของพระพุทธศาสนาจะมีรูปพระเจ้าของศาสนาชินโตรวมอยู่ด้วยเสมอ เช่น มีรูปเทพีอะมะเตระสุโอมิกามิ (ซึ่งลัทธิชินโตเคารพนับถือว่าเป็นผู้สร้างประเทศญี่ปุ่น) ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ พุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นอธิบายว่าเทพีองค์นี้ เป็นการอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (พระกวนอิมโพธิสัตว์) ลักษณะพุทธศาสนาในญี่ปุ่นจึงมีการปฏิบัติที่แปลกแตกต่างกว่าประเทศในเอเซียทั่วไป
พุทธศาสนาจากประเทศจีนต่างก็หลั่งไหลเข้าญี่ปุ่นนับเป็นจำนวนหลายนิกาย แต่ที่สำคัญ ๆ ปัจจุบันมี พุทธศาสนาแบบชินโต และพุทธศาสนานิกายเซน โดยเฉพาะนิกายเซนกำลังแพร่หลาย มีพุทธมามกะรวมประมาณ ๑๐ ล้านคน และนับวันจะเพิ่มมากขึ้น พุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญมาก มีวัดตามเมืองต่าง ๆ ทั่วไปถึงประมาณ ๗ หมื่นวัด พระสงฆ์ประมาณ ๒ แสนรูป นอกจากนี้ยังมีสถานศึกษาธรรมชั้นสูงอีกราวประมาณ ๑๐ กว่าแห่ง ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากในเรื่องการสอนและการปฏิบัติ

0 comments:

Post a Comment

free counters