26 May 2009

พระพุทธประวัติ (๕) ปฐมเทศนาและปฐมสาวก


ที่มาแห่งปาง "นาคปรก"
ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิยังร่มไม้จิก อันมีนามว่า "มุจลินท์" อันตั้งอยู่ในทิศบูรพาหรือทิศอาคเนย์ แห่งไม้มหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุขอยู่ ณ ที่นั้นอีก ๗ วัน ในกาลนั้นฝนตกพรำตลอด ๗ วัน พญานาคมีนามว่า "มุจลินท์นาคราช" มีอานุภาพมาก อยู่ที่สระโบกขรณี ใกล้ต้นมุจลินท์พฤกษ์นั้น มีความเลื่อมใสในพระศิริวิลาศ พร้อมด้วยพระรัศมีโอภาสอันงามล่วงล้ำเทพยดาทั้งหลาย จึงเข้าไปใกล้แล้วขดเข้าซึ่งขนดกาย แวดวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๗ รอบ และแผ่พังพานอันใหญ่ ป้องปกเบื้องบนพระเศียร มิให้ลมและฝนถูกต้องพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า

ครั้งล่วง ๗ วัน ฝนหายขาดแล้ว พญานาคก็คลายขนดจำแลงกายเป็นมานพ เข้าไปถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานวาจาว่า "ความสงัดเป็นสุข สำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามความเป็นจริง ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากความกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะ คือความถือตัวออกให้หมดไปเป็นสุขอย่างยิ่ง"

ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว เสด็จออกจากร่มไม้มุจลินท์ ไปยังร่มไม้เกตุ อันมีนามว่า "ราชายตนะ" อันอยู่ในทิศทักษิณ แห่งต้นมหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุข ณ ที่นั้น สิ้น ๗ วัน เป็นอวสาน ในกาลนั้น ท้าวสักกะอมรินทราธิราช ทรงดำริว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้เสวยพระกระยาหารนับแต่กาลตรัสรู้มาได้ ๔๙ วันแล้ว จึงได้เสด็จลงมาจากเทวโลก น้อมผลสมออันเป็นทิพยโอสถเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผลสมอเสวย แล้วทรงสรีระกิจลงพระบังคม ทรงสำราญพระกายแล้ว เสด็จเข้าประทับยังร่มไม้ราชายตนะพฤกษ์นั้น.

ในกาลนั้น มีพานิชสองพี่น้อง ชื่อ ตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เป็นนายกองเกวียน นำกองเกวียนบรรทุกสินค้า โดยมรรคาอันไกล ปรารถนาจะไปค้าขายยังอุกกลาชนบท ในมัชฌิมประเทศ เดินทางมาใกล้พนาสณฑ์นั้น เทพยดาได้แนะนำให้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า สองพานิชก็ดีใจ พักกองเกวียนไว้แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า มีศรัทธาเลื่อมใส ได้น้อมข้าวสัตตูก้อน สัตตูผล เข้าทูลถวายด้วย

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า บาตรของตถาคตได้หายไปแต่เช้าแห่งวันตรัสรู้ ต้องทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาด้วยพระหัตถ์ และครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ก็มิได้เสวยพระกระยาหารเลย ตลอดเวลา ๔๙ วัน บัดนี้ ควรที่ตถาคตจะรับอาหารของสองพานิช ที่น้อมเข้ามาถวายด้วยบาตร ขณะนั้นท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ ได้นำบาตรเสลมัย เป็นศิลาล้วน มีสีเขียวดังเม็ดถั่วเขียวทั้ง ๔ ลูก มาจากทิศทั้ง ๔ น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า

ครั้นพระองค์ทรงรับบาตรทั้ง ๔ ลูก จากท้าวมหาราชแล้ว ทรงดำริว่า บรรพชิตไม่ควรมีบาตรเกินกว่า ๑ ลูก และในทันใดนั้น ก็ทรงอธิษฐานประสานบาตรทั้ง ๔ ลูกนั้น เข้าเป็นบาตรลูกเดียว แล้วทรงเอาบาตรนั้นรับข้าวสัตตูก้อน สัตตูผง ของพานิชทั้งสอง ทรงทำภัตกิจ

พานิช ๒ พี่น้องถึงรัตนะ ๒ (เทวาจิกอุบาสก)
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จการเสวยแล้ว ตปุสสะ ภัลลิกะ พานิชทั้งสองได้กราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสกด้วยความเลื่อมใส ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรมว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต ด้วยเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ ปฐมอุบาสกทั้งสองนี้จึงเป็นอุบาสกประเภท เทววาจิก คือ เปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรมทั้งสองเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ครั้นแล้วพานิชทั้งสองได้กราบทูลขอประทานปูชนียวัตถุ คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำหรับเป็นที่ระลึก อภิวาทบูชาในกาลต่อไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกพระหัตถ์ขึ้นปรามาสพระเศียร ในขณะนั้น พระเกศธาตุ ๘ เส้น ได้ติดนิ้วพระหัตถ์ลงมา พระบรมศาสดาจึงทรงประทานพระเกศาธาตุทั้ง ๘ เส้นนั้น แก่ตปุสสะ ภัลลิกะ ปฐมอุบาสก เพื่อเป็นที่ระลึกตามประสงค์ พานิชทั้งสองน้อมรับพระเกศธาตุด้วยความเบิกบานใจอย่างยิ่ง ได้นำบรรจุลงในผอบทองคำ แล้ววางลงบนสุวรรณภาชนะอันวิจิตร ถวายบังคมอัญเชิญผอบพระเกศธาตุไปด้วยเศียรเกล้าของตน นำขึ้นประดิษฐานบนเกวียน แล้วหลีกไปจากที่นั้น

ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จจากร่มไม้ราชยายตนะ ไปประทับยังร่มไม้อชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง ทรงพระดำริถึงพระองค์ว่า การดำรงพระองค์อยู่โดยความเป็นผู้ไม่มีที่เคารพ กราบไหว้ เป็นความลำบาก ก็แลพระองค์ควรจะเคารพกราบไหว้ผู้ใดดี เมื่อได้ทรงพิจารณาเลือกหาผู้ที่ทรงคุณสมบัติยิ่งกว่า ควรที่พระองค์จะทรงเคารพ ก็มิได้ทรงมองเห็นใครผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม ควรแก่การคารวะ

ทรงพระดำริว่า พระโลกุตตรธรรม ที่ตถาคตได้ตรัสรู้นี้แล เป็นปูชนียธรรมอันประเสริฐสุด ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วทุก ๆ พระองค์ ก็ทรงเคารพพระสัทธรรม ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเคารพพระธรรม ทรงเทิดทูนพระธรรมขึ้นเป็นที่เคารพบูชา

ต่อนั้น ก็ทรงได้พิจารณาถึงพระธรรม ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ทั้งหมดนั้น เป็นคุณชาติละเอียดสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่ง ยากที่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีปัญญาน้อย มีความเพียรน้อย แม้จะได้สดับแล้ว จะตรัสรู้ตามได้ ทำให้พระองค์ทรงท้อพระทัยในอันจะแสดงธรรมโปรดประชากร

ท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนาธรรม
ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบในพระพุทธปริวิตกเช่นนั้น จึงชวนเทพยดาเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ แล้วกราบทูลอาราธนาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาดังทะเลหลวง ประชากรทั้งปวงที่มีสาวกบารมีได้สั่งสมไว้มีอยู่ สัตว์ผู้มีธุลีนัยน์ตาน้อย ยังมีอยู่ ถ้าพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดประทานพระธรรมเทศนา ประชาสัตว์ก็จะได้ดวงปัญญาหยั่งรู้ตาม จะได้ข้ามสังสารวัฏฏ์ สมดังมโนรถของพระองค์ที่ทรงมุ่งจะรื้อขนสัตว์ให้เข้าสู่พระนิพพาน"

เปรียบดอกบัว ๔ ประเภท

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม ก็ทรงพระจินตนาการว่า เป็นธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่สืบ ๆ กันมา ในอันที่จะประกาศธรรมโปรดประชากร แท้จริง ในราตรีแห่งวันที่จะได้ตรัสรู้ ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ก็ทรงหยั่งเห็นสันดานของประชาสัตว์สิ้นแล้ว ว่ามีอุปนิสสัยต่าง ๆ กัน เป็น ๔ จำพวก คือ

๑. อุคฆติตัญญู ผู้สามารถจะตรัสรู้ตามพระธรรมเทศนาได้ฉับพลัน

๒. วิปจิตัญญู ผู้จะตรัสรู้ตามในกาลภายหลังที่สดับรับพระโอวาทแนะนำในกาลต่อไป

๓. เนยยะ ผู้มีสันดานเพียงเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติตามโอวาท ซึ่งสามารถจะรู้ได้ในกาลภายหลัง

๔. ปทปรมะ ผู้ยากที่จะสั่งสอน แม้จะได้สดับธรรม ก็จะได้ผลเพียงเป็นอุปนิสสัยปัจจัยในภาพต่อไป ดังดอกบัว ๔ เหล่านั้น จึงได้ทรงน้อมพระทัยไปในอันที่จะแสดงธรรมโปรดประชาสัตว์ ทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม ตั้งพระทัยจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาด้วยดี ให้เกิดแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แผ่ไพศาลก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานสืบไป
ต่อนั้น ก็ทรงพระดำริหาคนที่ควรจะได้รับเทศนาครั้งแรก ได้ทรงปรารภถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านในกาลก่อน ว่า ท่านทั้งสองนี้มีปัญญา ทั้งมีกิเลสเบาบาง สามารถจะรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน แต่ท่านทั้งสองได้สิ้นชีพเสียแล้วก่อนหน้า ๗ ราตรี มัจจุ คือความตาย เป็นมาร เป็นภัยต่อคุณอันใหญ่ของท่านทั้งสอง ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้ฟังธรรมแล้วคงจะได้ตรัสรู้โดยฉับพลันทีเดียว ภายหลังทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ว่า เป็นผู้มีอุปนิสสัยในอันจะตรัสรู้ธรรม ทั้งมีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้เป็นอุปฐากของพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ครั้นทรงกำหนดแน่ในพระทัยว่า จะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อน ดังนั้น ครั้นเวลาเช้าแห่งวันจาตุททสี ดิถีขึ้น ๑๔ ค่ำ แห่งอาสาฬหมาส คือ เดือน ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จดำเนินไปโดยทางที่จะไปยังเมืองพาราณสี อันเป็นทางระหว่างแห่งแม่น้ำคยา กับแดนมหาโพธิ์ต่อกัน ทรงพบอาชีวกผู้หนึ่ง มีนามว่า อุปกะ เดินสวนทางมา ฝ่ายอุปกะได้เห็นพระรัศมีฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาพงดงามผ่องใส อย่างที่ไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน ก็ประหลาดใจ คิดไปว่า คนผู้นี้ไฉนหนอจึงมีรัศมีโอภาสงามผุดผ่อง เป็นสง่าน่าเคารพยิ่งนัก จึงเข้าไปใกล้แล้วปราศัยด้วยคารวะเป็นอันดีว่า ข้าแต่สมณะ อินทรีย์ของท่านผ่องใส บริสุทธิ์ปราศจากราคี ท่านบวชในสำนักไหน ใครเป็นครูของท่าน ท่านเล่าเรียนปฏิบัติธรรมในสำนักอาจารย์ผู้ใด กรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วย

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ดูกร อุปกะ ตถาคตเป็นสยัมภู ตรัสรู้เองด้วยปัญญายิ่ง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอน เป็นสัพพัญญู ตรัสรู้ธรรมทั้งมวล ไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรู้ ซึ่งตถาคตไม่รู้ อุปกะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ตถาคตแสดงว่าใครเป็นครูสั่งสอนเล่า"

อุปกะไม่เชื่อ ด้วยไม่มีญาณที่จะหยั่งเห็นตาม ทั้งไม่มีความรู้ที่จะซักถามถึงเหตุอื่นอีกได้ สั่นศีรษะแล้วก็หลีกไปจากที่นั้น ตามสันดานของอาชีวก ที่มีทิฏฐิ ที่มั่นแต่ในลัทธิของตนเท่านั้นว่าถูก อาจารย์ของตนรู้จริง คนอื่นเปล่า ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จโดยทางนั้นต่อไป พอเพลาสายัณห์ก็บรรลุถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

เสด็จโปรดปัญจวัคคีย์
ขณะนั้น ปัญจวัคคีย์ ฤาษีทั้ง ๕ ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงกล่าวนัดหมายกันว่า พระสมณะโคดม เลิกละความเพียรในการบำเพ็ญตบะ ในทุกรกิริยา บัดนี้ มีร่างกายผ่องใสงดงามยิ่งนัก คงจะไม่มีโอกาสได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมา ณ ที่นี้ ชรอยจะมีความรำคาญไม่สบายพระทัย อยู่ไม่ได้โดยลำพังพระองค์เดียว จึงเที่ยวสืบเสาะแสวงหาเรา ดังนั้น ในบรรดาพวกเรา ใครอย่าทำปัจจุคมต้อนรับ อย่าไหว้อย่ากราบ อย่ารับบาตรจีวร ปูลาดแต่อาสนะไว้ถวาย ด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์ขัตติยตระกูลมหาศาล หากพระองค์ปรารถนาจะนั่ง ก็จะได้นั่งตามประสงค์ ครั้นทำกติกาสัญญานัดหมายแล้ว ก็ทำนั่งเพิกเฉยแสดงอาการไม่เคารพ ไม่ยินดีในการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า

แต่ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ก็บรรดาลให้ปัญญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ลืมกติกาสัญญาที่ทำกันไว้หมด พากันลุกขึ้นยืนประนตน้อมอัญชลี รับบาตร จีวร บางรูปตักน้ำมาล้างพระยุคลบาท บางรูปก็ร้องทูลเชิญให้เสด็จประทับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับนั่งแล้ว ปัญจวัคคีย์ได้กล่าวปฏิสันถาร ถามถึงทุกข์สุขตามวิสัยของคนที่ต่างถิ่นมาไกลได้พบกัน หากแต่ใช้สำนวนต่ำ ๆ ว่า อาวุโส โคตมะ อันเป็นกิริยาไม่เคารพ ซึ่งไม่เป็นการสมควร

แต่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกว่า "ดูกร ปัญจวัคคีย์ บัดนี้ ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว มาครั้งนี้หวังจะแสดงธรรมแก่เธอทั้ง ๕ เธอจงตั้งใจสดับ และปฏิบัติตามคำของตถาคต ไม่ช้านานสักเท่าใด ก็จะได้ตรัสรู้ตาม"

ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ กลับคัดค้านว่า "อาวุโส โคตมะ แม้แต่กาลก่อน พระองค์ทรงบำเพ็ญตบะ ทำทุกรกิริยาด้วยความเพียรอย่างแรงกล้า ก็ยังไม่สำเร็จแก่พระสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วไฉนเลิกละความเพียรเวียนมาเป็นผู้มักมากแล้ว พระองค์จะตรัสรู้พระสัมโพธิญาณได้เล่า"
แม้พระบรมศาสดาจะตรัสเตือนซ้ำอีก ปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ กล่าวโต้แย้งถึง ๓ ครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเตือนด้วยพระกรุณา ให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ หวลระลึกถึงความหลังดูว่า "ดูก่อนปัญจวัคคีย์ วาจาที่ไม่ควรเชื่อคำใด ตถาคตเคยกล่าวอยู่บ้างหรือ แม้แต่คำว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณนี้ ตถาคตเคยกล่าวกะใคร ที่ไหน แต่กาลก่อน"

ด้วยอานุภาพของพระวาจาจริงของพระองค์ เป็นอัศจรรย์ ทำให้พระปัญจวัคคีย์ระลึกเห็นตาม พากันแน่ใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า คงจะได้ตรัสรู้จริงดังพระวาจา ก็พร้อมกันถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยคารวะ ขอประทานอภัยโทษที่แสดงอาการไม่เคารพต่อพระองค์ในเบื้องต้นทุกประการ

ทรงแสดงปฐมเทศนา (ธรรมจักกัปปวัตนสูตร)

พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับพักในสำนักปัญจวัคคีย์ ๑ ราตรี ครั้นวันรุ่งขึ้น เป็นวันปัณณรสี ขึ้น ๑๕ ค่ำ อาสาฬหมาส พระองค์จึงได้ทรงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ประทานปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ รูปนั้นว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่าง บรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี คือ กามสุขขัลลิกานุโยค ทำตนให้พัวพันด้วยสุขในกาม เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุตั้งบ้านตั้งเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ของพระอริยะ คือผู้บริสุทธิ์ไม่เป็นประโยชน์ นี้อย่าง ๑

อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบาก เป็นทุกข์ ไม่ทำให้เป็นพระอริยะ ไม่เป็นประโยชน์ นี้อย่าง ๑ ทั้งสองอย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี

มัชฌิมาปฏิปทา เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตา ปรีชาญาณให้สว่างเป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ สิ้นตัณหาเครื่องรัดรึง

มัชฌิมาปฏิทา นั้น เป็นอย่างไร ?

มัชฌิมาปฏิทา นั้น คือ ทางมีองค์ ๘ ทำผู้ดำเนินให้เป็นอริยะนั้นเอง

องค์ ๘ นั้นอะไรบ้าง ?

องค์ ๘ นั้น คือปัญญาความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑

มัชฌิมาปฏิทานี้แล เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตา ปรีชาฌาณให้สว่าง เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความแห้งใจ ความรำพัน ความเจ็บไข้ ความเสียใจ ความคับใจ เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์

ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ ตัณหา ความทะยานอยาก ทำให้มีภพมีชาติ สหรคด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ

ตัณหา อะไรบ้าง ?

กามตัณหา คือ ความทยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่ ๑ ภวตัณหา คือความทยานอยากในความมีความเป็น ๑ วิภวตัณหา คือ ความทยานอยากในความไม่มีไม่เป็น ๑ ตัณหา ๓ ประการนี้แล เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ ความดับตัณหาทั้ง ๓ นั้นแหละ หมดสิ้น เป็นอเสสวิราค ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่พัวพัน ซึ่งตัณหานั้นแล เป็นความดับทุกข์

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางเข้าถึงความดับทุกข์นี้ อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยบุคคล ได้แก่อริยมรรค ทางมีองค์ ๘ นี้แล คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑ ดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑ เป็นทางถึงความดับทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า

ข้อนี้ ทุกข์ ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา และเราก็ได้กำหนดรู้แล้ว

ข้อนี้ ทุกขสมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด ควรละเสีย และเราได้ละเสียแล้ว

ข้อนี้ ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ควรทำให้แจ้งชัด และเราก็ได้ทำให้แจ้งชัดแล้ว

ข้อนี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางเข้าถึงความดับทุกข์ ควรทำให้เกิด และเราก็ได้ทำให้เกิดแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจจ์ ๔ อันมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดเพียงใดแล้ว เราก็ยังไม่อาจยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีความรู้อันใดเหนือเพียงนั้น

เมื่อใด ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้ ของเราหมดจดดีแล้ว เมื่อนั้น เราอาจยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีความรู้อันใดเหนือ ก็แลปัญญาได้เกิดขึ้นแก่เราชัดว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ ความเกิดครั้งนี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ ไม่มีความเกิดอีก

ปฐมสาวก (พระสาวกรูปแรก)
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ ธรรมจักษุ (ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค์ ท่านผู้ได้ เป็นพระโสดาบัน) คือ ดวงตาอันเห็นธรรม ปราศจากธุลีมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านโกณทัญญะว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา" พระองค์ทรงทราบว่าท่านโกณทัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัยว่า "อัญญาสิ วต โภ โกณทัญโญ ๆ" แปลว่า "โกณทัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ๆ" พระโกณทัญญะจึงได้คำว่า อัญญา อันเป็นคำนำหน้าพระอุทาน เพิ่มชื่อข้างหน้า เป็น พระอัญญาโกณทัญญะ ตั้งแต่กาลนั้นมา

เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบลง ให้พระอัญญาโกณทัญญะได้บรรลุโสดาปัตติมรรค เป็นพระโสดาบันแล้ว และให้บรรดาอเนกนิกรเทพยดาที่มาประชุมฟังธรรมเทศนาอยู่ ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลมากมาย สุดที่จะคนณา
พระโกณทัญญะ จึงได้ทูลขออุปสมบท เป็นภิกษุ ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ด้วยพระวาจาว่า "ท่านจงเป็นภิกษุ มาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด" ด้วยพระวาจาเพียงเท่านั้น ก็ได้สำเร็จเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อย่างสมบูรณ์ ด้วยในเวลานั้นยังมิได้ทรงบัญญัติวิธีอุปสมบทเป็นอื่นไว้ ทั้งเพิ่งเป็นการประทานอุปสมบทครั้งแรกในพระศาสนา ฉะนั้น พระอัญญาโกณทัญญะ จึงเป็นพระสงฆ์องค์แรก เป็นพระอริยะบุคคคลองค์แรก และเป็นพระสาวกองค์แรกในพระศาสนานี้ เป็นอันว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า ให้เกิดขึ้นบริบูรณ์ ในกาลแต่บัดนั้น

พระบรมศาสดา มีพระพุทธประสงค์จะทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์ให้สำเร็จพระอรหัตต์ เพื่อเป็นกำลังในการประกาศพระศาสนาต่อไป จึงเสด็จจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงสั่งสอนบรรพชิตทั้ง ๔ รูปที่เหลืออยู่นั้น ด้วยพระธรรมเทศนาต่าง ๆ ตามสมควรแก่อัธยาศัย เมื่อท่านวัปปะ แ ละท่านภัททิยะ ได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมอย่างพระอัญญาโกณทัญญะแล้ว ทูลขออุปสมบท พระศาสดาก็ทรงประทานอุปสมบทแก่ท่านทั้ง ๒ นั้น เหมือนอย่างประทานแก่พระอัญญาโกณทัญญะ ภายหลังท่านมหานามะ และท่านอัสสชิ ได้ธรรมจักษุ แล้ว ทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงประทานเหมือนอย่างประทานแก่สาวกทั้ง ๓

ครั้นพระภิกษุปัญจวัคคีย์ ตั้งอยู่ในที่พระสาวกแล้ว มีอินทรีย์ มีศรัทธา เป็นต้น แก่กล้า สมควรสดับธรรม จำเริญวิปัสสนา เพื่อวิมุติเบื้องสูงแล้ว ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำ แห่งเดือนสาวนะ คือ เดือน ๙ ซึ่งเท่ากับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ไทย ด้วยสมัยนั้น นับแรมเป็นต้นเดือน นับขึ้นเป็นปลายเดือน พระศาสดาจึงได้แสดงธรรมสั่งสอน พระปัญจวัคคีย์ด้วย อนัตตลักขณะสูตร เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนา แสดงอนัตตลักขณสูตรอยู่ จิตของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสเทศนานั้น พ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ คือ พระสัมพุทธเจ้า ๑ พระอริยะสาวก ๕ คือ พระอัญญาโกณทัญญะ๑ พระวัปปะ ๑ พระภัททิยะ ๑ พระมหานามะ ๑ พระอัสสชิ ๑ รวมเป็น ๖ ด้วยประการฉะนี้

0 comments:

Post a Comment

free counters