22 May 2009

“พระพุทธศาสนาสมัยเชียงใหม่”


ในขณะที่ไทยทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขับไล่อิทธิพลเขมรและสร้างอาณาจักรสุโขทัยขึ้นนั้น ในราว พ.ศ. ๑๘๒๔ พระเจ้าเม็งราย เชื้อสายกษัตริย์ไทยเชียงแสนเก่า ได้รบชนะพญาญีบากษัตริย์มอญซึ่งครองเมืองลำพูน ล้างอำนาจของมอญลง ในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ ทรงสร้างนครเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานี ลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์ได้แพร่ หลายจากสุโขทัยและจากมอญขึ้นมาสู่ลานนาไทย แต่ยังไม่สู้จะเป็นหลักฐานมั่นคงนัก จนถึงแผ่นดินพระเจ้ากือนา ซึ่งเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ.๑๙๑๐ ทรงส่งทูตไปนิมนต์พระอุทุมพรมหาสวามีคณาจารย์ลังกาวงศ์ที่เมืองนครพัน (คือเมืองเมาะตะมะ) ในประเทศมอญ เพื่อมาตั้งลัทธิลังกาวงศ์ที่เมืองเชียงใหม่ พร้อมกันนั้นพระเจ้ากือนาส่งทูตมาขอพระสุมนเถระชาวไทยสุโขทัย ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอุทุมพรมหาเถระเหมือนกัน ให้ช่วยกันไปตั้งลัทธิลังกาวงศ์ ลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ก็ตั้งมั่นรุ่งเรืองขึ้นจำเดิมแต่นั้นมา ตกในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ปรากฏว่า มีพระสงฆ์ชาวเชียงใหม่หลายรูปและพระสงฆ์ชาวมอญชาวไทยอยุธยากับเขมรพากัน ไปอุปสมบทเล่าเรียนพระธรรมวินัยที่ลังกา เมื่อกลับมาแล้วก็แยกย้ายกันไปบำเพ็ญศาสนากิจตามชาติภูมิของตน ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก์ จัดให้มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๐ ณ วัดมหาโพธาราม (วัดเจดีย์เจ็ดยอด) นับว่าเป็นการทำสังคายนาครั้งแรกในประเทศไทย จำเดิมแต่นั้นมาอาณาจักรเชียงใหม่ก็รุ่งเรืองเจริญด้วยการศีกษาพระประยัติธรรม ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ อาณาจักรลานนาจึงเสียอาณาจักรแก่พม่า ต่อจากนั้นไทยกับพม่าก็ผลัดกันปกครองเชียงใหม่ จนกระทั่งถึงสมัยกรุงธนบุรีจึงรวม เชียงใหม่เข้าไว้ ในผืนแผ่นดินไทยด้วยกัน

0 comments:

Post a Comment

free counters