22 May 2009

“พระพุทธศาสนาแพร่สู่ประเทศไทยสมัยก่อนสุโขทัย”(ตอนที่2)


ทางตอนเหนือของมลายูที่ในขณะนี้คือนครศรีธรรมราช ซึ่งมีชื่อเรียกในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ว่าเมืองตามพรลิงค์ เป็นประเทศราชของจักรวรรดิ์ศรีวิชัย นอกจากนี้อาณาจักรศรีวิชัย ยังเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาพระปริยัติ ธรรมที่โด่งดัง จนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ตามเรื่องราวที่ปรากฏในตำนานว่าอิทธิพลศรีวิชัยได้ขยายรุกขึ้น มาถึงประเทศกัมพูชาและบรรดาประเทศราชของเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ๒ คราว เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓ คราวหนึ่ง และเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ อีกคราวหนึ่ง พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ปรากฏว่าน่าจะมีเชื้อสายสืบ มาจากพวกศรีวิชัย ประเทศกัมพูชาและประเทศไทยจึงได้รับนับถือลัทธิมหายานตามแบบอย่างศรีวิชัยอีกใน ระยะนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมา

ในยุคที่จักรวรรดิเขมรมีอำนาจครอบงำประเทศไทยเราเรียกว่ายุคลพบุรี มีระยะเวลาราว พ.ศ. ๑๕๐๐- ๑๘๐๐ ปี กษัตริย์เขมรบางพระองค์ก็เป็นพุทธมามกะ บางพระองค์ก็เป็นพราหมณมามกะ แต่พระพุทธศาสนา ซึ่งแพร่หลายอยู่ในสมัยลพบุรีนี้ ปรากฏว่ามีทั้งลัทธิฝ่ายเถรวาทและลัทธิฝ่ายมหายาน แต่ลัทธิมหายานนิกายมนตรยานได้เจริญงอกงามขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเทศกัมพูชาเองและในประเทศไทยตั้งแต่ตอนกลางและอิสานบางส่วนลงไป สถานที่สำคัญเกี่ยวกับลัทธิมหายานนิกายมนตรยาน เช่น ปราสาทหินพิมาย และพระปรางค์สามยอดที่ลพบุรี เป็นต้น

ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ชาวไทยได้ตั้งอาณาจักรเป็นปึกแผ่นขึ้นในลานนาภาคเหนือและพายัพของ ประเทศไทยปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนาที่ชาวไทยในขณะนั้นนับถือเรียกได้ว่านับถือรวม ๆ กันไปทั้งเถรวาทแบบมอญกับลัทธิมหายานแบบเขมร แต่อิทธิพลของลัทธิเถรวาทมีสูงกว่าลัทธิมหายานมาก ครั้นตกราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๖

ทางประเทศพม่าพระเจ้าอโนรธาได้เป็นใหญ่ครองพุกาม ขณะนั้นพวกพม่านับถือลัทธิมหายานนิกาย มนตรยานมากกว่าเถรวาท รวมทั้งได้เอาลัทธิตันตระของฮินดูเข้ามาปะปนมาก เมื่อพระเจ้าอโนรธา ตีได้อาณาจักรมอญซึ่งเป็นอู่ความเจริญของพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท ได้ทรงรับเป็นศาสนูปถัมภก ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทให้รุ่งเรืองขึ้น โดยมีเมืองพุกามเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นในตอนนี้พม่าจึงเป็นแห่งสำคัญ ของความพัฒนาแห่งพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งได้ขยายเข้ามาในประเทศไทยในเวลาต่อมาด้วยดังปรากฏโบราณสถานพระเจดีย์เจ็ดยอดเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสร้างถ่ายแบบจากพระเจดีย์มหาโพธิเมืองพุกาม

ประเทศลังกาหรือสิงหลนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทสืบมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช เหมือนกับทางสุวรรณภูมิ ครั้นตกราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ลังกาได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยซึ่งนับเป็นหนที่ ๗ ใน ตำนานสังคายนาของฝ่ายเถรวาท กิตติศัพท์แพร่หลายมาถึงประเทศพม่ามีพระสงฆ์จากพุกามและมอญที่บวช ใหม่กับพระสงฆ์ลังกากลับมาเมืองพุกามและเมืองมอญ ตั้งเป็นคณะลังกาวงศ์ขึ้นได้รับความนับถือเลื่อมใสจากพระราชาและประชาชนจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้น พระสงฆ์พวกเก่านับวันก็ค่อย ๆ หมดไปโดยพฤตินัย ครั้งนั้นมี คณาจารย์ในลังกาวงศ์นี้รูปหนึ่ง ชื่อพระราหุลเป็นชาวลังกาได้จาริกจากพุกามมาตั้งคณะลังกาวงศ์ขึ้นที่เมือง นครศรีธรรมราชซึ่งยังเรียกชื่อว่าเมืองตามพรลิงค์ มีกษัตริย์มลายูเชื้อสายศรีวิชัยปกครองอยู่ คณะสงฆ์ลังกาวงศ์ ที่เมืองนคร ฯ ก็เจริญขึ้นเหมือนที่พุกาม เป็นเหตุให้แพร่หลายสู่ประเทศไทยและกัมพูชาในกาลต่อมา พวกพุกาม ปกครองอาณาจักรทางลานนาอยู่ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ก็หมดอำนาจ อิทธิพลทั้งมอญและเขมรก็หมดฤทธิ์ลงไปมากแล้ว มีคนไทยได้ตั้งตนเป็นเจ้าเมืองปกครองกันเอง นับตั้งแต่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์เขมร องค์สุดท้ายที่มีอำนาจและทรงเป็นมหายานพุทธมามกะที่เคร่งครัดแล้ว ลัทธิมหายานพร้อมๆ กับอำนาจของ อาณาจักรเขมรก็เสื่อมโทรมลงทันที

0 comments:

Post a Comment

free counters