09 July 2009

ประวัติความเป็นมาและความสำคัญแห่ง"วันเข้าพรรษา"



ความหมายของคำว่า “วันเข้าพรรษา”
วันเข้าพรรษา คือ วันที่พระสงฆ์อธิษฐานว่า จะอยู่ประจำในอาวาสตลอด 3 เดือน โดยไม่ไปแรมคืนในที่อื่น ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 วันพรรษาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มีอยู่ 2 วันคือ วันคือ
วันเข้าปุริมพรรษา คือเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน 11
วันเข้าปัจฉิมพรรษา คือวันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน 12

ความสำคัญของ “วันเข้าพรรษา”

เมื่อเข้าพรรษาแล้วหากภิกษุมีกิจ ธุระจำเป็น อันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ โดยมีข้อจำกัดว่าจะต้องกลับมายังสถานที่จำพรรษาเดิมภายใน 7 วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกรณียะ ดังต่อไปนี้

1. เมื่อทายกทายิกา ปราถนาจะบำเพ็ญกุศล เมื่อมานิมนต์ก็ให้ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้
2. ถ้าสงฆ์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอธิกรณ์ขึ้น ก็ให้ไปเพื่อระงับอธิกรณ์ได้
3. ถ้าบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นไข้ เมื่อทราบก็ให้ไปได้
4. พระวิหารในที่แห่งอื่นเกิดชำรุดเสียหาย ให้ไปหาสิ่งของเพื่อมาปฏิสังขรพระวิหารนั้นได้
5. เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น พระวิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม ก็ให้ไปจากที่นั้นได้
6. เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ก็ให้ไปกับพวกชาวบ้านได้ โดยให้ไปกับชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธาสามารถที่จะให้ความอุปถัมภ์ได้
7. เมื่อที่ใดเกิดความขาดแคลน อาหารหรือยารักษาโรค ขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ได้รับความลำบากก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
8. ถ้าหากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
9. หากภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามจะให้แตกกัน ถ้าการไปจากที่นั้นสามารถระงับการแตกกันได้ ก็อนุญาตให้ไปได้

ตามประวัติกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุได้ท่องเที่ยวจาริกไปยังที่ต่างๆ แม้กระทั่งในฤดูฝน ก็ยังออกไปจาริกอยู่ จึงทำให้ไปเหยียบข้าวกล้าของชาวบ้านเกิดความเสียหายพระพุทธเจ้าจึงทรงวาง ระเบียบให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอดเวลา 3 เดือน ในฤดูฝน เรียก จำพรรษา ต่อมาการเข้าพรรษามีวัตถุประสงค์กว้างออกไปโดยสรุปได้ ดังนี้

1. เพื่อให้พระสงฆ์ ได้มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัยได้มากขึ้น

2. เพื่อเปิดโอกาส ให้ชาวบ้านได้บำเพ็ญกุศล เช่น รักษาศีล ฟังธรรม เป็นต้น

3. เพื่อให้ประชาชนนำบุตรหลานที่เป็นชายเข้ามาบวช เพื่อศึกษาธรรม

ประวัติความเป็นมาแห่ง “วันเข้าพรรษา”

ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์จึงต่างพากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ต่อมาชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน พระสงฆ์ที่เข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น”ขาดพรรษา”

แต่หากมีกรณีจำเป็นบางอย่าง พระภิกษุผู้จำพรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” เช่น

การไปรักษาพยาบาล หาอาหารให้ภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย เป็นต้น กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก ๕ และมารดาบิดา
การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก ๕
การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือ การไปทำสังฆกรรม เช่น สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส เป็นต้น
หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน รับศีล ฟังเทสนาธรรมได้ กรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ ก็จะไปค้างไม่ได้.

ประเภทของการเข้าพรรษา

การเข้าพรรษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1 . ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
2. ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน

กิจของสงฆ์

ในวันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า

อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ

หรือว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ

แปลว่า ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในอาวาสนี้ หรือในวิหารนี้ (ว่า 3 ครั้ง)

หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษา แล้วก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอาวาสนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ

เครื่องอัฏฐบริขารของภิกษุระหว่างการจำพรรษา

โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุ ตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น กว่าพระสงฆ์จะหาที่พักแรมได้ บางครั้งก็ถูกฝนเปียกปอน ชาวบ้านผู้ใจบุญจึงถวาย “ผ้าจำนำพรรษา” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยน และยังถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันเป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษา จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ประโยชน์ในการเข้าพรรษาของพระภิกษุ

1. ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์
2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 – 9 เดือน ก็เป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน
3. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึง วันออกพรรษา
4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา

การปฏิบัติตนในวันเข้าพรรษา

แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของ ภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณรที่ตนเคารพนับถือ หรือมีการช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น

มีประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกัน เรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่ง เทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง อีกทั้งมีการ “ประกวดเทียนพรรษา” ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา

1. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
2. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิกษุสามเณร
3. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
4. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ
5. อยู่กับครอบครัว

ประวัติความเป็นมาและความสำคัญแห่ง"วันอาสาฬหบูชา"


ความหมายของคำว่า “อาสาฬหบูชา”
“อาสาฬหบูชา” (อา-สาน-หะ-บู-ชา/ อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา

โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน ๘ คือ
๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
๔. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า
เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกวันอาสาฬหบูชา นี้ว่า “วันพระสงฆ์” (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)


ความสำคัญของ “วันอาสาฬหบูชา”

๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา

๒.เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรประกาศสัจจธรรมอันเป็นองค์แห่งสัมมาสัมโพธิญาณ

๓.เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิขุอุปสัมปทาในวันนั้น

๔. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระสังฆรัตนะสมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะพระธรรมรัตนะพระสังฆรัตนะ


ประวัติความเป็นมาแห่ง”วันอาสาฬหบูชา”

นับแต่วันที่สมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ คือ ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระองค์ประทับเสวยวิ มุตติสุขในบริเวณโพธิมัณฑ์นั้น ตลอด ๗ สัปดาห์ คือ

- สัปดาห์ที่ ๑ คงประทับอยู่ที่ควงไม้อสัตถะอันเป็นไม้มหาโพธิ์ เพราะเป็นที่ตรัสรู้ ทรงใช้ เวลาพิจรณาปฏิจจสมุปปาทธรรมทบทวนอยู่ตลอด ๗ วัน

- สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จไปทางทิศอีสานของต้นโพธิ์ ประทับยืนกลางแจ้งเพ่งดูไม้มหาโพธิ์โดย ไม่กระพริบพระเนตรอยู่ในที่แห่งเดียวจนตลอด ๗ วัน ที่ที่ประทับยืนนั้นปรากฎเรียกในภายหลังว่า “อนิสิมสสเจดีย์”

- สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จไปประทับอยู่ในที่กึ่งกลางระหว่างอนิมิสสเจดีย์ กับต้นมหาโพธิ์แล้วทรง จงกรมอยู่ ณ ที่ตรงนั้นตลอด ๗ วัน ซึ่งต่อมาเรียกที่ตรงนั้นว่า “จงกรมเจดีย์”

- สัปดาห์ที่ ๔ เสด็จไปทางทิศพายัพของต้นมหาโพธิ์ ประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิ ธรรมอยู่ตลอด ๗ วัน ที่ประทับขัดสมาธิเพชร ต่อมาเรียกว่า”รัตนฆรเจดีย์”

- สัปดาห์ที่ ๕ เสด็จไปทางทิศบูรพาของต้นมหาโพธิ์ประทับ ที่ควงไม้ไทรชื่ออชาปาลนิโครธ อยู่ ตลอด ๗ วัน ในระหว่างนั้น ทรงแก้ปัญหาของพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งทูลถามในเรื่องความเป็นพราหมณ์

- สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จไปทางทิศอาคเนย์ของต้นมหาโพธิ์ ประทับที่ควงไม้จิกเสวยวิมุตติสุขอยู่ ตลอด ๗ วัน ฝนตกพรำตลอดเวลา พญานาคมาวงขดล้อมพระองค์ และแผ่พังพานบังฝนให้พระองค์ ทรงเปล่งพระอุทานสรรเสริญความสงัด และความไม่เบียดเบียนกันว่าเป็นสุบในโลก
- สัปดาห์ที่ ๗ เสด็จย้ายสถานที่ไปทางทิศใต้ของต้นมหาโพธิ์ ประทับที่ควงไม้เกดเสวยวิมุตติ สุขตลอด ๗ วัน มีพาณิช ๒ คน ชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะเดินทางจากอุกกลชนบทมาถึงที่นั้น ได้เห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่ จึงนำข้าวสัตตุผงข้าวสัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียงกรังของตนเข้าไปถวายพระองค์ทรงรับเสวยเสร็จแล้ว สองพาณิชก็ประกาศตนเป็นอุบาสก นับเป็นอุบาสกคู่แรกในประวัติกาล ทรงพิจารณาสัตว์โลกเมื่อล่วงสัปดาห์ที่ ๗ แล้ว พระองค์เสด็จกลับมาประทับที่ควงไม้ไทรชื่ออชาปาลนิโครธอีก ทรงคำนึงว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม จีงท้อพระทัยที่สอนสัตว์ แต่อาศัยพระกรุณาเป็นที่ตั้ง ทรงเล็งเห็นว่าโลกนี้ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็คงมี ตอนนี้แสดงถึงบุคคล ๔ เหล่า เปรียบกับดอกบัว ๔ ประเภท คือ


๑. อุคฆติตัญญู ได้แก่ ผู้ที่มีอุปนิสัยสามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สอนสั่ง สอนเปรียบเทียบ เหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว พร้อมที่จะบานในเมื่อได้รับแสงพระอาทิตย์ในวันนั้น

๒. วิปัจจิตัญญู ได้แก่ ผู้ที่สามารถจะรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านขยายความย่อให้พิสดารออกไปเปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอ ระดับน้ำ จักบานในวันรุ่งขี้น

๓. เนยยะ ได้แก่ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรม วิเศษ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำ แต่จะโผล่แล้วบานขี้นในวันต่อๆ ไป

๔. ปทปรมะ ได้แก่ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่อง แล้วก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือน ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำติดกับเปือกตม รังแต่จะเป็นภักษาหารแห่งปลาและเต่า เมื่อเล็งเห็นเหตุนี้ จึงตกลงพระทัยจะสอน ทรงนึกถึงผู้ที่ควรโปรดก่อนคือ อาฬารดาบส กับ อุทกดาบส ท่านเหล่านี้ก็หาบุญไม่เสียแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ปัญจวัคคีย์ จีงทรงตัดสินพระทัยว่า ควรโปรดปัญจวัคคีย์ก่อน แล้วก็เสด็จออกเดินไปจากควงไม้ไทรนั้น มุ่งพระพักตร์เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี การที่เสด็จเดินทางจากตำบลพระศรีมหาโพธิ์ จนกระทั่งถึงกรุงพาราณสีเช่นนี้ แสดงให้เห็น เพระวิริยอุตสาหะอันแรงกล้าเป็นการตั้งพระทัยแน่วแน่ ที่จะประทานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์เป็นพวกแรกอย่างแทัจริง หนทางระหว่างตำบลพระศรีมหาโพธิ์ถึงพาราณสีนั้น ในปัจจุบัน ถ้าไปทางรถไฟก็เป็นเวลา ๗-๘ชั่วโมง การเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า อาจใช้เวลาตั้งหลายวัน แต่ปรากฏว่าพอตอนเย็นขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหะนั้นเอง

พระ พุทธองค์ก็เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสี อันเป็นที่อยู่แห่งปัจจวัคคีย์พอเสด็จ เข้าราวป่าพวกปัญจจวัคคีย์นั้นได้เห็นจึงนัดหมายกันว่า จะไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ และไม่รับบาตรจีวรจะตั้งไว้ให้เพียงอาสนะเท่านั้น เพราะเข้าใจว่าพระองค์ กลายเป็นคนมีความมักมากหมดความเพียรเสียแล้ว พอพระองค์เสด็จถึง ต่างก็พูดกับพระองค์โดยไม่เคารพ พระองค์ตรัสห้าม และทรงบอกว่าพระองค์ตรัสรู้แล้วจะแสดงธรรมสั่งสอนให้ ฟังพราหมณ์ทั้ง ๕ ก็พากันคัดค้านลำเลิกด้วยถ้อยคำต่างๆ ที่สุดพระองค์จึงทรงแจงเตือนให้รำลึกว่า พระองค์เคยกล่าวเช่นนี้มาในหนหลังบ้างหรือ ? พราหมณ์ทั้ง๕ ระลึกได้ ต่างก็สงบตั้งใจฟังธรรมทันที ค่ำวันนั้น พระองค์ประทับแรมอยู่กับพราหมณ์ทั้ง ๕ รุ่งขี้นวันเพ็ญแห่งเดือนอาสาฬหะ พระองค์ทรงเริ่มแสดงธัมมะ-จักกัปปวัตตนสูตร นับเป็นเทศนากัณฑ์แรกโปรดปัญจวัคคีย์นั้น โดยใจความคือทรงยกที่สุด ๒ ฝ่าย ได้แก่ การประกอบตนให้ลำบากด้วยการทรมานกาย และการไม่ประกอบตนให้เพลิดเพลินในกามสุข ทั้ง ๒ นี้นับว่า เป็นของเลวทราม ไม่ควรเสพเฉพาะทางสายกลางเท่านั้น เป็นข้อปฏิบัติที่สมควร แล้วทรงแสดงทางสายกลางคือ อริยมรรค ๘ ประการ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมัตนะ ทำการงานชอบ
๕. สัมมอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
สรุปด้วยอริยสัจ ๔ ได้แก่
๑. ทุกข์ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒. สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธความดับทุกข์
๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ชี้ ให้เห็นโดยปริวรรตและอาการต่างๆ ว่า เมื่อรู้แล้วอาจยืนยันได้ว่า ตรัสรู้โดยชอบถึงความ หลุดพ้นและสุดชาติสุดภพแน่นอน ขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมนี้อยู่ ท่านโกณฑัญญะได้ส่องญาณไปตามจนเกิด “ธรรมจักษุ” คือดวงตาเห็นธรรมขึ้นทางปัญญาพระองค์ทรงทราบจึงเปล่งพระอุทานว่า “อัญญสิๆ”"อัญญสิๆ”(โกณฑัญญะรู้แล้วๆ)เพราะพระองค์ทรงอุทานนี้ภายหลังท่าน โกณฑัญญะจึงได้นามใหม่ว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” แต่นั้นก็ทูลขอบรรพชาพระองค์ประทานอนุญาตด้วยเอหิภิขุอุปสัมปทาน นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์ ตามพุทธประวัติที่เล่ามานี้ จะเห็นว่า วันอาสาฬหบูชามีความสำคัญ คือ

๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา
๒.เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ประกาศสัจจธรรมอันเป็นองค์แห่งสัมมาสัมโพธิญาณ
๓.เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิขุอุปสัมปทาในวันนั้น
๔. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระสังฆรัตนะสมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะพระธรรมรัตนะพระสังฆรัตนะ





การถือปฏิบัติวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย

พิธีวันอาสาฬหบูชาเริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกใน ประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้น อีกวันหนึ่ง คือ วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติ ในเวลาต่อมา โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ และในวันเดียวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน กล่าวคือก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา ๑ สัปดาห์ให้เจ้าอาวาสแจ้งแก่พระภิกษุสามเณรตลอดจนศิษย์วัด คนวัดช่วยกันปัดกวาด ปูลาดอาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะให้ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถตลอดวัน ทั้งเวลาเช้าและเวลาบ่ายให้มีการฟังธรรมตามปกติ เวลาค่ำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ จุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ยืนประนมมือสำรวมจิตโดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน นำกล่าวคำบูชาจบแล้วทำประทักษิณ
ครั้นแล้วให้ภิกษุสามเณรเข้าไปบูชาพระรัตน ตรัยทำวัตรค่ำแล้ว สวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกาทำวัตรค่ำ ต่อจากนั้นให้พระสังฆเถระ แสดงพระธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตรแล้ว ให้พระภิกษุสามเณรสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตรทำนองสรภัญญะ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชนจบแล้ว ให้เป็นโอกาสของพุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัยกุศล มีสวดมนต์สนทนาธรรม บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น ตามควรแก่อัธยาศัยให้ใช้เวลาทำพิธีอาสาฬหบูชาไม่เกิน เวลา ๒๔.๐๐ น. และได้มีการทำพิธีอาสาฬหบูชาอย่างกว้างขวาง นับแต่นั้นมาทางราชการ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการชักธงชาติ ถวายเป็นพุทธบูชาในวันนี้ด้วย

เมื่อ วันอาสาฬหบูชาซึ่งตรงในวันเดียวกันได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบปี คือ เวียนมาบรรจบในวันเพ็ญอาสาฬหบูชาเดือน ๘ ของไทยเรา ชาวพุทธทั่วโลกจึงประกอบพิธีสักการบูชา การประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชาแบ่งออกเป็น 3 พิธีคือ
๑.พิธีหลวง (พระราชพิธี)
๒. พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป)
๓. พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้)

การประกอบพิธีและบทสวดมนต์ในวันอาสาฬหบูชาก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวัน อาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาดังนี้

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ในปีที่มีอธิกมาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนิน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดไฟจากโคม สำหรับถวาย เจ้าอาวาส ไปจุดเทียนพรรษา ที่ทรงพระราชอุทิศไว้แล้ว ทรงจุดเทียนพรรษาบูชาพระรัตนตรัย ทรงถวายพุ่มเทียน บูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ ทรงประเคนบรรจุ พุ่มเทียน ถวายถาดใส่ดอกไม้ ธูป ๑ กล่อง เทียน ๕๐ เล่ม แด่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ เป็นต้น

วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ในปีที่มีอธิกมาส เป็นวันเข้าพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ ๑๕๐ รูป เข้าไปรับพระราชทานอาหารบิณฑบาตของหลวง ในพระบรมมหาราชวัง

ในเวลาเย็นเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณี รัตนปฏิมากร จาก เครื่องทรงฤดูร้อน เป็นเครื่องทรงฤดูฝน เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงประกอบพิธีถวายบูชาสักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์

การปฏิบัติตนในวันอาสาฬหบูชา

๑. ละเว้นอบายมุขทุกประเภท
๒. ทำทาน เช่น ตักบาตรพระ ดูแลบิดามารดา และเลี้ยงสัตว์ผู้อดยาก เป็นต้น
๓. สมาทานศีล ๕ ศีลอุโบสถ และศีล ๘
๔. ฟังพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร
๕. ปฏิบัติกรรมฐาน ทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน
๖. เวียนเทียนรำลึกรอบสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัย เช่น โบสถ์ ต้นโพธิ์ พระพุทธรูป และธัมเมกขสถุป (สำหรับผู้ไปนมัสการ สังเวชนียสถานที่อินเดีย) เป็นต้น
๗. พึงบูชาพระรัตนตรัย ด้วยการบูชาทั้งสองประเภท คือ ทั้งอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา ทั้งนี้ ก็เพื่อความสุข ความเจริญ ของจิตใจ ของตนเองและผู้คนร่วมสังคม

08 June 2009

ประวัติพระเทวทัต


พระเทวทัต แสดงฤทธิ์แก่เจ้าชายอชาตศัตรู
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปประทับ ณ เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น ลาภสักการะบังเกิดแก่พระองค์กับทั้งภิกษุสงฆ์สาวกเป็นอันมาก คนทั้งหลายถือสักการะ มีจีวร บิณฑบาต เภสัช อัฎฐบาน เป็นต้น เข้ามาสู่วิหาร ถวายแก่พระสงฆ์สาวกเป็นเนืองนิตย์ ส่วนมากทุก ๆ คนที่มา ย่อมถามถึงแต่พระอัครสาวกทั้งสอง และพระสาวกองค์อื่น ๆ ว่า ท่านอยู่ ณ ที่ใด แล้วพากันไปเคารพนบไหว้สักการะบูชา ไม่มีใครถามถึงพระเทวทัตแม้แต่ผู้เดียว

พระเทวทัตเกิดความโทมนัสน้อยใจ ตามวิสัยของปุถุชนจำพวกที่มากด้วยความอิจฉา ฤษยา คิดว่า เราเป็นกษัตริย์ศากยะราชสกุลเหมือนกัน ออกบรรพชากับด้วยกษัตริย์ขัตติวงศ์นั้น ๆ แต่ไม่มีใครนับถือ ถามหา น่าน้อยใจ เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็เกิดตัณหาในลาภสักการะ เข้าครอบงำจิต คิดใคร่จะได้ลาภสักการะ สัมมานะ เคารพนับถือ แล้วก็คิดต่อไปว่า เราจะทำบุคคลผู้ใดให้เลื่อมใส กราบไหว้บูชาดีหนอ จึงจะบังเกิดลาภสักการะ ครั้นคิดต่อไปก็มองเห็นอุบายทันทีว่า พระอชาตศัตรูราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารนั้น ยังทรงพระเยาว์ ยังไม่รอบรู้คุณและโทษแห่งบุคคลใด ๆ ควรจะไปคบหาด้วยพระราชกุมารนั้นเถิด ลาภสักการะก็จะพลันบังเกิดเป็นอันมาก

ครั้นดำริดังนั้นแล้ว ก็หลีกจากเมืองโกสัมพีไปสู่เมืองราชคฤห์ แล้วนิรมิตกายเป็นกุมารน้อย เอาอสรพิษ ๔ ตัว ทำเป็นอาภรณ์ประดับมือและเท้า ขดทำเป็นเทริดบนศรีรษะ ๑ ตัว ทำเป็นสังวาลย์พันกาย ๑ ตัว สำแดงปาฎิหาริย์ปุถุชนฤทธิ์ของตนเหาะไปยังพระราชนิเวศน์ ลอยลงจากอากาศ ปรากฎกายอยู่เฉพาะหน้าพระอชาตศัตรูราชกุมาร

ครั้นพระราชกุมารตกพระทัยกลัว ก็ทูลว่า "อาตมา คือพระเทวทัต" แล้วเจรจาเล้าโลมให้พระราชกุมารหายกลัว สำแดงกายเป็นพระทรงไตรจีวรและบาตร ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระราชกุมาร เมื่อพระราชกุมารเห็นปาฎิหาริย์เช่นนั้น ก็ทรงเลื่อมใส เคารพนับถือ ถวายลาภสักการะบูชาเป็นอันมาก

พระเทวทัต ขออำนาจปกครองสงฆ์
ภายหลัง พระเทวทัตเกิดบาปจิตคิดใฝ่สูงด้วยอำนาจตัณหา มานะครอบงำจิตคิดผิดไปว่า เราสมควรจะเป็นผู้ครองพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง พอดำริดังนั้น ปุถุชนฤทธิ์ของตนก็เสื่อมสูญพร้อมกับจิตตุบาท ครั้นคิดดังนั้นแล้ว ก็เดินทางมาเฝ้าพระพระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร ณ เมืองราชคฤห์ ในเวลาที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่มวลพุทธบริษัท ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารมหาราชประทับเป็นประธานอยู่ เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเทวทัตได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้พระองค์ทรงชราภาพแล้ว จงเสวยทิฎฐธรรมสุขวิหารสำราญพระกมล มีความขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จะรับภาระธุระช่วยว่ากล่าวครอบครองภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ขอพระองค์จงมอบเวรพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งสิ้นให้แก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะได้ว่ากล่าวสั่งสอนแทนพระองค์สืบไป"

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับ จึงตรัสห้ามว่า "ไม่ควร" ไม่ทรงอนุญาตให้เป็นไปตามความปรารถนาของพระเทวทัต ๆ ก็โทมนัส ผูกอาฆาตในพระบรมศาสดา จำเดิมแต่นั้นมา พระบรมศาสดาได้ทรงประกาศความประพฤติอันไม่ดีอันไม่งามของพระเทวทัต ซึ่งเกิดขึ้นด้วยจิตลามกให้พระสงฆ์ทั้งหลายทราบ เพื่อให้ภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ จะได้สังวรระวังจิตมิให้วิปริตไปตาม

ให้พระกุมารอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระบิดา
ต่อมาพระเทวทัตคิดการใหญ่ ปรารถนาจะทำอันตรายแก่พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปเฝ้าพระอชาตศัตรูราชกุมาร แล้วด้วยอุบายทูลว่า แต่ก่อนมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืน บัดนี้อายุของมนุษย์น้อยถอยลง หากพระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อนพระราชบิดา แต่เวลายังหนุ่มอยู่แล้ว ไฉนพระองค์จะได้รับราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยพระราชสมบัติสมดังพระทัยที่ปรารถนาไว้เล่า ฉะนั้น พระองค์จงปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดา จัดการสถาปนาพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติเสียตั้งแต่บัดนี้เถิด แม้อาตมาก็จะฆ่าพระสมณะโคดมเสีย จะได้เป็นพระบรมศาสดา ปกครองพระสงฆ์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน.

เมื่อพระอชาตศัตรูราชกุมาร ยังเยาว์พระวัย พระทัยเบา หลงเชื่อถ้อยคำของพระเทวทัต จึงทำปิตุฆาต ปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์พระเจ้าพิมพิสาร พระชนกนาถ ให้อภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สำเร็จดังปราถนา

ส่งนักแม่นธนุ กลิ้งศิลา ให้ปล่อยช้างนาฬาคีรี ลอบปลงพระชนม์
พระเทวทัตได้พยายามทำร้ายพระบรมศาสดา โดยคบคิดกับพระเจ้าอชาติศัตรูเป็นการใหญ่ ครั้งที่หนึ่ง ได้ใช้ให้นายขมังธนูทั้งหลาย เข้าไปทำอันตรายยิงพระบรมศาสดา แต่นายขมังธนูกลับมีจิตศรัทธา สดับพระธรรมเทศนา ให้บรรลุโสดาปัตติผลด้วยกันสิ้น.
ครั้งที่สอง พระเทวทัตลอบขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฎ กลิ้งก้อนหินศิลาใหญ่ลงมาหวังจะให้ประหารพระบรมศาสดา ขณะเสด็จขึ้น ถึงสะเก็ดศิลาได้กระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ที่พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นนาถะของโลก เป็นพระบรมครูขอเทพยดาและมวลมนุษย์ ต้องประสบอันตรายถึงเสียพระโลหิตจากพระกาย เพราะพระเทวทัตกระทำอนันตริยกรรมพุทธโลหิตุบาท.
ครั้งที่สอง พระเทวทัตให้ปล่อยช้างนาฬาคีรี ช้างพระที่นั่งกำลังซับมันดุร้าย เพื่อให้ทำอันตรายพระชนม์ชีพพระบรมศาสดา ในเวลาเสด็จออกบิณฑบาต แต่ช้างนาฬาคีรีก็ไม่ทำร้ายพระองค์

ครั้งนั้น พระอานนท์เถระเจ้า มากด้วยความกตัญญู สละชีวิตถวายเป็นพุทธบูชา โดยกลัวว่าช้างนาฬาคีรีจะทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ออกไปยืนกั้นหน้าช้างนาฬาคีรีไว้ เพื่อให้ช้างทำลายชีวิตท่าน ปรารถนาจะป้องกันพระบรมศาสดา ในทันใดนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงช้างนาฬาคีรีให้หมดพยศอันร้ายกาจ หมอบยอบกายเข้าไปถวายบังคมพระบรมศาสดา ฟังพระบรมศาสดาตรัสสอนแล้วเดินกลับเข้าสู่โรงช้าง ด้วยอาการอันสงบ ปรากฎแก่มหาชนที่ประชุมกันดูอยู่เป็นอันมาก เป็นมหัศจรรย์ ครั้นพระผู้มีพระภาค พาพระสงฆ์เสด็จกลับยังพระเวฬุวันวิหาร มหาชนก็พากันแซ่ซ้องร้องสาธุการ ติดตามไปยังพระเวฬุวันวิหาร จัดมหาทานถวายครั้นเสร็จภัตตกิจแล้วพระบรมศาสดาได้ตรัสอนุปุพพิกกถาอนุโมทนา เมื่อได้ทรงสดับคำพรรณนาถึงคุณของพระอานนท์เถระเจ้าที่ได้สละชีวิตออกไปยืนกั้นช้างนาฬาคีรี สมเด็จพระชินสีห์ จึงประทานพระธรรมเทศนามหังสชาดก และจุลลหังสชาดก ยกคุณของพระอานนท์เถระเจ้าที่ได้สละชีวิตถวายพระองค์แม้ในอดีตชาติ

แท้จริง การที่พระเทวทัตเกิดมีจิตบาปหยาบช้าลามก ทำร้ายพระบรมศาสดามาก่อนนั้นก็ดี แนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรู ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารก็ดี มิสู้จะปรากฎแพร่หลายนัก ต่อเมื่อปล่อยช้างนาฬาคีรี ให้ประทุษร้ายพระบรมศาสดาครั้งนั้นแล้ว ความชั่วร้ายแต่หนหลังของพระเทวทัตก็ปรากฎทั่วไป ชาวพระนครราชคฤห์พากันโพนทนากันโกลาหลว่า พระเทวทัตคบคิดด้วยพระเจ้าอชาติศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร ทำร้ายพระสัมมาพุทธเจ้า ทำกรรมชั่วช้าลามกสิ้นดี

พระเจ้าอชาตศัตรู เลิกนับถือพระเทวทัต
ครั้นพระเจ้าอชาติศัตรูได้ทรงสดับข่าวติฉินร้ายแรงเช่นนั้น ก็ละอายพระทัย จึงเลิกโรงทานที่จัดอาหารบำรุงพระเทวทัตและศิษย์เสียสิ้น ทั้งไม่เสด็จไปหาพระเทวทัตเหมือนแต่ก่อน แม้ชาวเมืองทั้งหลายก็ไม่ศรัทธาเลื่อมใส ไม่พอใจให้การบำรุง แม้พระเทวทัตไปสู่บ้านเรือนใด ๆ ก็ไม่มีใครต้อนรับ เพียงแต่อาหารทัพพีหนึ่งก็ไม่ได้ พระเทวทัตได้เสื่อมเสียจากลาภสักการะทั้งปวง.

ขอวัตถุ ๕ ประการ (เคร่งเกินพอดี)
ภายหลัง พระเทวทัตปรารถนาจะเลี้ยงชีพด้วยโกหัญญกรรม การหลอกลวงสืบไป เพื่อจะเเสดงว่าตนเป็นผู้เคร่งครัด ได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ เพื่อให้พระบรมศาสดาบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายปฎิบัติโดยเคร่งครัด คือ...

๑. ให้อยู่ในเสนาสนะป่า เป็นวัตร

๒. ให้ถือบิณฑบาต เป็นวัตร

๓. ให้ทรงผ้าบังสุกุล เป็นวัตร

๔. ให้อยู่โคนไม้ เป็นวัตร

๕. ให้งดฉันมังสาหาร เป็นวัตร

ในวัตถุทั้ง ๕ ภิกษุรูปใด จะปฎิบัติข้อใด ให้ถือข้อนั้นโดยเคร่งครัด คือให้สมาทานเป็นวัตร ปฎิบัติโดยส่วนเดียว

พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า "ไม่ควร ควรให้ปฎิบัติได้ตามศรัทธา" ด้วยทรงเห็นว่า ยากแก่การปฎิบัติ เป็นการเกินพอดีไม่เป็นทางสายกลางสำหรับบุคคลทั่วไป พระเทวทัตโกรธแค้น ไม่สมประสงค์ กล่าวยกโทษพระบรมศาสดา ประกาศว่า คำสอนของตนประเสริฐกว่า ทำให้ภิกษุที่บวชใหม่ มีปัญญาน้อยหลงเชื่อ ยอมทำตนเข้าเป็นสาวก ครั้นพระเทวทัตได้ภิกษุยอมเข้าเป็นบริษัทของตนแล้ว ก็พยายามทำสังฆเภท แยกจากพระบรมศาสดา

เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบ ก็โปรดให้หาพระเทวทัตมาเฝ้า รับสั่งถาม พระเทวทัตก็ทูลตามความสัตย์ จึงทรงตรัสพระพุทธโอวาทห้ามปรามว่า "ดูก่อนเทวทัต ท่านอย่าพึงทำเช่นนั้น อันสังฆเภทนี้เป็นครุกรรมใหญ่หลางนัก" พระเทวทัตมิได้เอื้อเฟื้อในพระโอวาท ไปจากที่นั้น พบพระอานนท์ ในพระนครราชคฤห์ ได้บอกความประสงค์ของตนว่า "ท่านอานนท์ จะเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าเลิกจากพระบรมศาสดา ข้าพเจ้าเลิกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง ข้าพเจ้าจะทำอุโบสถสังฆกรรมเป็นการภายในแต่พวกของเราเท่านั้น" พระอานนท์ได้นำความนั้นมากราบทูลพระบรมศาสดา เมื่อทรงทราบแล้วก็บังเกิดธรรมสังเวช ทรงพระดำริว่า "พระเทวทัตจะกระทำอนันตริยกรรม อันจะนำตัวให้ไปทนทุกข์อยู่ในอเวจีมหานรก" แล้วทรงอุทานว่า "กรรมใดไม่ดีด้วย ไม่เป็นประโยชน์ด้วย กรรมนั้นทำได้ง่าย ส่วนกรรมใดดีด้วย มีประโยชน์ด้วย กรรมนั้นทำได้ยากยิ่งนัก"

พระเทวทัตทำสังฆเภท (ทำลายสงฆ์ให้แตกสามัคคี)
ในที่สุด พระเทวทัตก็ประชุมภิกษุ ส่วนมากเป็นชาววัชชี บวชใหม่ ในโรงอุโบสถ ประกาศทำสังฆเภท จักระเภท แยกออกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง แล้วพาภิกษุเหล่านั้นไปยังตำบลคยาสีสะประเทศ
ครั้นพระบรมศาสดาได้ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำรัสให้พระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระ ไปนำภิกษุพวกนั้นกลับ อัครสาวกทั้งสองรับพระบัญชาแล้วไปที่คยาสีสะประเทศนั้น แนะนำพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้น ให้กลับใจ ด้วยอำนาจเทศนาปาฎิหาริย์และอิทธิปาฎิหาริย์ต่างๆ ให้ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอมตธรรม แล้วพาภิกษุเหล่านั้นกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา

พระโกกาลิกะ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระเทวทัต มีความโกรธ กล่าวโทษแก่พระเทวทัต ที่ไปคบค้าด้วยพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ให้พระอัครสาวกทั้งสองพาภิกษุทั้งหลายกลับไปหมดสิ้น แล้วประหารพระเทวทัตที่ทรงอก ด้วยเท้าอย่างแรงด้วยกำลังโทสะ เป็นเหตุให้พระเทวทัตเจ็บปวดอย่างสาหัส ถึงอาเจียนเป็นโลหิต ได้รับทุกข์เวทนากล้า

พระเทวทัตอาพาธ สำนึกผิด
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จจากพระนครราชคฤห์ ไปประทับยังพระเชตวันวิหารพระนครสาวัตถีแล้ว ต่อมาพระเทวทัตก็อาพาธหนักลง ไม่ทุเลาถึง ๙ เดือน กลับหวลคิดถึงพระบรมศาสดา ใคร่จะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยแน่ใจในชีวิตสังขารของตนคงจะดับสูญในกาลไม่นานนั้นเป็นแน่แท้ จึงได้ขอร้องให้ภิกษุที่เป็นสาวกของตนให้ช่วยพาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุพวกนั้นกล่าวว่า "ท่านอาจารย์เป็นเวรอยู่กับพระบรมศาสดาหนักนัก ข้าพเจ้าทั้งหลาย หาอาจพาไปเฝ้าได้ไม่" พระเทวทัตจึงกล่าวว่า "ท่านทั้งปวงอย่าให้เราพินาศฉิบหายเสียเลย แม้เราจะได้ทำเวรอาฆาตในพระผู้มีพระภาค แต่พระผู้มีพระภาคจะได้อาฆาตตอบเราแม้แต่น้อยหนึ่งก็มิได้มี เราจะไปขมาโทษ ขอให้พระองค์อดโทษให้สิ้นโทษ ด้วยน้ำพระทัยพระผู้มีพระภาคเปี่ยมด้วยพระกรุณา ทรงพระการุญในพระเทวทัตก็ดี ในองคุลีมาลโจรก็ดี ในช้างนาฬาคีรีก็ดี ในพระราหุลผู้เป็นพระโอรสก็ดี เสมอกัน" เหตุนั้น พระเทวัตจึงขอร้อง วิงวอนแล้ว ๆ เล่า ๆ ให้ภิกษุผู้เป็นศิษย์ ช่วยนำตัวไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์มีความสงสาร จึงพร้อมกันยกพระเทวทัตขึ้นนอนบนเตียงแล้วช่วยกันหามมา ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ จนถึงเมืองสาวัตถี

ครั้นพระสงฆ์ทั้งหลายรู้ข่าว จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตได้ทำกรรมหนัก ไม่อาจเห็นตถาคตในอัตตภาพนี้ได้เลย" แม้ภิกษุทั้งหลายจะได้เข้ากราบทูลให้ทรงทราบเป็นระยะ ๆ หลายหน ถึงครั้งสุดท้าย พระเทวทัตได้ถูกหามมาใกล้พระเชตวันวิหารแล้ว พระผู้มีพระภาค ก็ยังทรงรับสั่งเช่นเดิมอยู่อย่างนั้นอีกว่า "ภิกษุทั้งหลาย แม้พระเทวทัต จะเข้ามาในพระเชตวัน พระเทวทัตก็จะไม่ได้เห็นตถาคตเป็นแน่แท้"



พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ
เมื่ออันเตวสิกทั้งหลาย หามพระเทวทัตมาถึงสระโบกขรณี ซึ่งอยู่นอกพระเชตวันวิหาร จึงวางเตียงลงในที่ใกล้สระ แล้วก็ชวนลงอาบน้ำในสระนั้น ส่วนพระเทวทัตก็ลุกขึ้นนั่งอยู่บนเตียง ห้อยเท้าทั้งสองถึงพื้นดิน ประสงค์จะเหยียบยันกายขึ้นบนพื้นปฐพี ในขณะนั้น พื้นปฐพีก็แยกออกเป็นช่อง สูบเอาเท้าทั้งสองของพระเทวทัตลงไปในแผ่นดินโดยลำดับ พระเทวทัตได้จมหายไปในภาคพื้น ตราบเท่าถึงคอ และกระดูกคาง วางอยู่บนพื้นปฐพี

ในเวลานั้น พระเทวทัตได้กล่าวคาถาสรรเสริญบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "พระผู้มีพระภาค เป็นอัครบุรุษ ยอดแห่งมนุษย์และเทพดาทั้งหลาย พระองค์เป็นสารถีฝึกบุรุษอันประเสริฐ พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยบุญญลักษณ์ถึงร้อย และบริบูรณ์ด้วยสมันตจักษุญาณ หาที่เปรียบมิได้ ข้าพระองค์ ขณะนี้ มีเพียงกระดูกคางและศรีษะ กับลมหายใจเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ"

พอสิ้นเสียงแห่งคำนี้เท่านั้น ร่างพระเทวทัตก็จมหายลงไปในแผ่นพื้นปฐพีไปบังเกิด ในอเวจีมหานรก ด้วยบาปไม่เคารพในพระรัตนตรัย ประทุษร้ายในพระบรมศาสดา ทำสังฆเภทอันเป็นอนันตริยกรรม ข่าวพระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ เป็นข่าวใหญ่เกรียวกราว ได้แพร่สะพัดไปในชาวนครสาวัตถี ไม่นานก็รู้กันทั่วกรุง โจษจันกันไปทั่วชุมนุมชน ด้วยเพิ่งจะรู้จะได้ยิน เพิ่งจะปรากฎ ผู้หนักในธรรมก็สังเวชสลดใจ คนใจบุญก็สดุ้งต่อปาบ เห็นบาปเป็นภัยใหญ่หลวง คนที่เกลียดชังพระเทวทัต ก็พากันดีใจ โลดเต้นสาปแช่ง สมน้ำหน้าพระเทวทัตหนักขึ้น

ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "บัดนี้ พระเทวทัตไปบังเกิดในที่ไหน?" พระบรมศาสดาตรัสว่า ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ภิกษุทั้งหลาย คนทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ เมื่อละจากโลกนี้ไป ก็ย่อมทวีความเดือดร้อนยิ่งขึ้น

ภายหลัง พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้สึกในความผิดของพระองค์ ทรงเดือดร้อนพระทัย โปรดให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ พาพระองค์เฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งประทับอยู่ที่พระวิหารกลม ในชีวกัมพวนาราม ครั้นสดับพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้วทรงเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นกำลังอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาต่อมา.
ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กุฎาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครไพศาลี ทรงทราบว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ซึ่งประทับอยู่กบิลพัสดุ์นคร ทรงประชวรหนัก อาศัยที่ทรงสมบูรณ์ด้วยพระกตัญญูกตเวทีตาธรรม จึงเสด็จไปเยี่ยมพระพุทธบิดา พร้อมด้วยพระสาวกเป็นอันมาก ทรงบำเพ็ญปิตุปัฏฐานธรรมถวายการพยาบาลตามพุทธวิสัย

โปรดพระนางพิมพาเทวีและพระนันทกุมาร


ความซื่อสัตย์ของพระนางพิมพา
วันรุ่งขึ้นอีก พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาต ในพระราชนิเวศน์เป็นวันที่สาม ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสเทศนามหาธรรมปาลชาดกโปรดพระพุทธบิดา ให้สำเร็จพระอนาคามีผล.

พระเจ้าสุทโธนะกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระนางพิมพาเทวี เป็นชนปทกัลยาณี มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ สุดจะหาสตรีที่ใดเสมอได้ นับแต่พระองค์เสด็จจากพระนครไป สิ่งอันใดที่ก่อให้เกิดราคี เสื่อมศรีเสียเกียรติยศแล้ว พระนางจะห่างไกลไม่กระทำ เฝ้าแต่รำพันถึงคุณสมบัติของพระองค์ แล้วก็โศกเศร้าอาดูร มิได้ใส่ใจถ่อยคำของผู้ใดจะช่วยแนะนำให้บรรเทาความเศร้าโศก ไม่สนใจในการตกแต่งกายทุกอย่าง เลิกเครื่องสำอางค์ทุกชนิด เมื่อได้ทราบว่าพระองค์ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ พระนางก็จัดหาผ้ากาสาวพัสตร์มาใช้ตามพระองค์ตลอดจนทุกวันนี้ ได้ทราบข่าวว่าพระองค์อดพระกระยาหาร ทรมานกาย พระนางก็พอใจอดพระกระยาหารตามเสด็จตลอดเวลา จะหาสตรีที่มีความจงรักภักดีเช่นนี้ เห็นสุดหา"

"อนึ่ง นับแต่พระองค์เสด็จมาสู่พระราชนิเวศน์เข้า ๓ วันนี้ พระนางพิมพาก็มิได้มาเฝ้า เศร้าโศกอยู่แต่ในห้องผทม ตั้งใจอยู่ว่าพระองค์คงจะเสด็จเข้าไปหายังห้องที่เคยเสด็จประทับในกาลก่อน หากพระองค์จะไม่เสด็จไปยังห้องของพระนางแล้ว พระนางคงจะเสียพระทัยถึงแก่วายชีวิตเป็นแน่แท้ หม่อมฉันขออาราธนาพระองค์เสด็จไปโปรดพระนางพิมพาเทวี ขอให้ทรงพระกรุณาประทานชีวิตแก่พระนางผู้มีความจงรักภักดีในครั้งนี้ด้วยเถิด"

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "ดูกรพระราชสมภาร อันพระนางพิมพาเทวีมารดาราหุลกุมาร มีความจงรักภักดีต่อตถาคต สมจริงดังพระองค์รับสั่งทุกประการ และก็สมควรที่ตถาคตจะไปอนุเคราะห์พระนางให้สมมโนรถ เพื่อบรรเทาความเศร้าโศก ให้ได้รับความสดชื่น สุขใจ ในอมตธรรมตามควรแก่วาสนา ด้วยพระนางมีคุณแก่ตถาคตมามากยิ่งนัก ในอดีตกาล ได้ช่วยตถาคตบำเพ็ญมหาทานบารมีมากกว่าแสนชาติ " ครั้นแล้วก็รับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายรออยู่ที่ปราสาทราชนิเวศน์ ให้ตามเสด็จแต่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ อัครสาวก ๒ องค์ เป็นปัจฉาสมณะ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปยังปราสาทของพระนางพิมพาเทวี พลางมีพระวาจารับสั่งแก่อัครสาวกว่า “ พระมารดาราหุลนี้ มีคุณแก่ตถาคตเป็นอันมาก ผิว่านางจะจับบาทตถาคตลูบคลำสัมผัส และโศกเศร้าอาดูรพิลาปร่ำไห้ ด้วยกำลังเสน่หา ท่านทั้งสองอย่าได้ห้ามปราม ปล่อยตามอัธยาศัย ให้พระนางพิไรรำพันปริเวทนาจนกว่าจะสิ้นโศก ผิว่าไปห้ามเข้า นางก็ยิ่งเพิ่มความเศร้าเสียพระทัยถึงชีวิต ไม่ทันได้สดับพระธรรมเทศนา ตถาคตยังเป็นหนี้พิมพามิได้เปลื้องปลด จะได้แทนทดใช้หนี้แก่พิมพาในกาลบัดนี้” ครั้นตรัสบอกอัครสาวกทั้งสองแล้ว ก็เสด็จพระพุทธลีลาเข้าไปในห้องแห่งประสาท ขึ้นสถิตบนรัตนบัลลังก์อาสน์อันงามวิจิตร

ฝ่ายนางสนมทั้งหลาย ครั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่บนปราสาท จึงรีบไปทูลความแด่พระนางพิมพาว่า "บัดนี้ พระสิทธัตถะราชสวามีของพระนางเจ้า ได้เสด็จมาประทับยังห้องแห่งปราสาทของพระนางแล้ว"

เมื่อพระนางพิมพาเทวีทรงสดับ ก็ลุกจากที่ประทับ จูงหัตถ์พระราหุล ราชโอรสกลั้นความกำสรดโศก แล้วก็เสด็จคลานออกจากพระทวารสถานที่สิริไสยาสน์ ตรงเข้ากอดบาทพระบรมศาสดา แล้วซบพระเศียรลงถวายนมัสการ พลางทรงพิลาปกราบทูลสารว่า "โทษกระหม่อมฉันนี้มีมาก เพราะเป็นหญิงกาลกิณี พระองค์จึงเสด็จหนีให้อาดูรด้วยเสน่หา แต่เวลายังดรุณภาพ พระองค์มิได้ตรัสบอกให้ทราบ แสร้งทรงสละข้าพระบาทไว้ไม่มีอาลัย ดุจก้อนเขฬะบนปลายพระชิวหา อันถ่มออกจากพระโอฐมิได้โปรดปราน เสด็จบำราศร้างจากนิวาสน์สถานไปบรรชา ถึงมาตรว่า ข้าพระบาทพิมพานี้มีโทษแล้ว ส่วนลูกแก้วราหุลราชกุมาร เพิ่งประสูติจากพระครรภ์ในวันนั้น ยังมิทันได้รู้ผิดชอบประการใด นั้นมีโทษสิ่งไรด้วยเล่า พระผ่านเกล้าจึงแกล้งทอดทิ้งไว้ให้ร้างพระปิตุรงค์"

"ประการหนึ่ง ข้าพระบาทของพระองค์นี้ โหราจารย์ญาณเมธีได้ทำนายไว้แต่ยังเยาว์วัยว่า ยโสธราพิมพาราชกุมารี มีบุญญาธิการใหญ่ยิ่ง ควรเป็นมิ่งมเหษีอดุลกษัตริย์จักรพรรดิราช คำทำนายนั้นก็เคลื่อนคลาดเพี้ยนผิด พิมพากลับวิปริตเป็นหญิงหม้ายชายร้างสิ้นราคา" เมื่อพระนางพิมพาเทวีปริเวทนามาฉะนี้ แล้วก็กลิ้งเกลือกพระอุตมางคโมลีเหนือหลังพระบาทพระศาสดา ดูเป็นที่เวทนา

ส่วนสมเด็จพระพุทธบิดา ก็ได้กราบทูลพรรณนาถึงความดีของพระนางพิมพาเทวีศรีสะไภ้ว่า "จะหาสตรีคนใดเสมอได้ยากยิ่ง มีความจงรักภักดีต่อพระองค์จริงประจักษ์ตา ทราบว่าพระองค์ผทมเหนือพื้นพสุธา พระนางก็ประพฤติตามเสด็จ โดยผทมยังภาคพื้นเมธนีดล ครั้นทราบว่า พระองค์เว้นเครื่องสุคนธ์ลูบไล้ ตลอดดอกไม้บุบผชาติ พระนางก็เว้นขาดจากเครื่องประดับทุกประการ ทั้งเครื่องลูบไล้สุมามาลย์ก็เลิกหมด เฝ้าแต่รันทดถึงพระองค์อยู่ไม่ขาด แม้บรรดาพระประยูรญาติของพระนาง ในเทวหะนคร ส่งข่าวสารมาทูลวอนว่า จะรับกลับไปบำรุงเลี้ยงรักษาปฎิบัติ พระนางก็บอกปัด มิได้เล็งแลดูหมู่กษัตริย์ศากยะวงศ์พระองค์ใด ตั้งพระทัยภักดีมีสัตย์ซื่อเสน่หาเฉพาะพระองค์ดำรงมา ดังพรรณนามาฉะนี้ "

เมื่อพระชินสีห์ได้ทรงเสวนาการ จึงมีพระพุทธบรรหารดำรัสว่า "ดูกรบรมบพิตร พระนางพิมพาเทวี จะได้มีจิตจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อสามีแต่ในชาตินี้เท่านั้น ก็หาไม่ พระมารดาราหุลนี้นั้น น้ำใจเป็นหนึ่งแน่ไม่แปรผันในสวามีแม้ในอดีตกาล ครั้งเสวยชาติเป็นเดรัจฉานกินนรี ก็มีจิตจงรักภักดีเลิศคุณดิลก" แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงจันทกินนรชาดกโดยพิสดาร บันเทาความโศกเศร้าปริเวทนาการของพระนางพิมพาให้เสื่อมหายคลายกำสรด เสมือนหนึ่งหลั่งน้ำอมตรสลงตรงดวงจิตของพระนาง ซึ่งเร่าร้อนด้วยเพลิงพิษคือกิเลสให้พลันดับ กลับให้ความสดชื่นเกษมสานต์

ส่วนพระนางพิมพาราชกัญญา ครั้นสร่างโศกสิ้นทุกข์ มีใจผ่องแผ่ว เบิกบานตั้งพระทัยสดับพระธรรมที่พระศาสดาทรงพระกรุณาประทานสืบไป ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาทพระศาสดา ด้วยความทราบซึ้งในพระมหากรุณา ที่ทรงอุตสาห์เสด็จมาประทานชีวิตให้สดชื่นรื่นรมย์ ทั้งประทานอมตธรรมให้ชื่นชม สมกับที่พระนางได้จงรักภักดีตั้งแต่ต้นมา แล้วสมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จพระพุทธลีลา พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๒ หมื่น เสด็จคืนสู่พระนิโครธมหาวิหาร

โปรดพระนันทกุมาร (พระอนุชา)

วันที่ ๔ พระบรมศาสดาเสด็จไปรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของพระนันทราชกุมารผู้เป็นพุทธอนุชา ซึงประสูติแต่พระนางมหาปชาบดี โคตมี ในงานวิวาหมงคลของนันทกุมารเอง ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ก็ประทานบาตรให้นันทกุมารถือไว้ มีพระดำรัสตรัสมงคลคาถาแก่สมาคม เสร็จแล้วก็เสด็จลุกจากอาสน์ ลงจากนิเวศน์ แต่มิได้ทรงรับบาตรจากนันทกุมาร แม้นันทกุมารก็ไม่กล้าทูลเตือนใหทรงรับบาตรคืนไป คงทรงดำเนินตามเสด็จลงมา ด้วยดำริอยู่ว่า เมื่อเสด็จถึงพื้นล่างแล้ว คงทรงรับไป ครั้นพระศาสดาไม่ทรงรับคืนไป ก็ดำริอีกว่า ถึงหน้าพระลานคงจะทรงรับ หรือไม่ก็ถึงพระทวารวัง ก็คงจะทรงรับไป ครั้นสองแห่งไม่ทรงรับ นันทกุมารก็ต้องจำใจถือตามเสด็จต่อไปอีก ไม่อาจทูลเตือนได้ แล้วก็ดำริต่อไปใหม่ตามทางเสด็จว่า เมื่อถึงตรงนั้น ๆ แล้ว คงจะทรงรับบาตรคืนไป

ฝ่ายนางชนปทกัลยาณี ผู้เป็นเทวีคู่อภิเษก ได้ทราบจากนางสนมว่า พระชินสีห์พานันทกุมารไปเสียแล้ว ก็ตกพระทัย ทรงกรรแสง รีบแล่นตามมาโดยเร็ว แล้วร้องทูลว่า "ข้าแต่นันทะพระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบทรงเสด็จกลับมาโดยด่วน" นันทกุมารได้สดับเสียงก็สดุ้งด้วยความอาลัย ใคร่จะกลับ แต่กลับไม่ได้ ด้วยเกรงพระทัยพระบรมศาสดา ต้องฝืนใจอุ้มบาตรตามพระบรมศาสดาไปจนถึงนิโครธมหาวิหาร

ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงพระคันธกุฎีแล้วก็ทรงรับสั่งว่า "นันทกุมาร จงบรรพชาเสียเถิด" นันทกุมารไม่อาจทูลขัดพระพุทธบัญชาได้ ด้วยความเคารพยิ่ง ก็จำใจทูลว่า "จะบวช" แล้วก็ทรงโปรดประทานอุปสมบทให้นันทกุมารในวันนั้น.
ครั้นวันที่ ๗ พระนางพิมพาเทวีประดับองค์ราหุลกุมารด้วยอาภรณ์อันวิจิตร ให้ราชบุรุษพาเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อทูลขอขุมทอง ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติอันราหุลกุมาร เป็นทายาทควรจะได้รับเป็นสมบัติสืบสันตติวงค์ พระศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปพระวิหาร แล้วโปรดให้พระสารีบุตรจัดการบรรพชาราหุลกุมารเป็นสามเณร

พระเจ้าสุทโธทนะขอพระพุทธานุญาต
พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ ก็โทมนัสเสียพระทัย ด้วยเดิมนั้นทรงประสงค์จะให้นันทกุมาร พระโอรสองค์ที่ ๒ สืบราชสมบัติ พระบรมศาสดาก็ทรงพาไปอุปสมบทเสีย ท้าวเธอก็ทรงหวังว่า จะให้ราหุลกุมารซึ่งเป็นทายาท สืบราชสมบัติต่อไป ซึ่งเป็นความหวังครั้งสุดท้าย แต่แล้วพระบรมศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปให้บรรพชาเสียอีก จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระวิหาร แล้วทูลขอประทานพระพุทธานุญาตว่า

"แต่นี้ต่อไปเมื่อหน้า กุลบุตรผู้ใดแม้ประสงค์จะบวช หากมารดาบิดาไม่ยอมพร้อมใจอนุญาตให้บวชแล้ว ขอให้ทรงงดไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้นั้น" พระบรมศาสดาก็ทรงประทานแก่พระพุทธบิดา แล้วถวายพระพรอำลา พาพระนันทและลาหุลสามเณร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริษัท เสด็จนิวัตตนาการกลับกรุงราคฤห์มหานคร.

ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐี ผู้อยู่ในเมืองสาวัตถี มาที่พระนครราชคฤห์ด้วยธุระกิจอย่างหนึ่ง พักอยู่ที่นิเวศน์ของท่านราคฤห์เศรษฐี ผู้เป็นน้องชายแห่งภริยาของท่าน ได้ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุโสดาปัตติผล แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาให้เสด็จ ประกาศพระพุทธศาสนายังนครสาวัตถี พร้อมกับกราบทูลว่า จะจัดสร้างพระวิหารถวายให้เป็นสังฆาราม ครั้นพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว ท่านอนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐีก็รีบล่วงหน้าไป บริจาคทรัพย์ซื้อที่ดิน อันเป็นอุทยานของพระราชกุมาร พระนามว่า "เชต" โดยวิธีให้คนขนเอาเงินมาลาดลงให้เต็มบนพื้นที่นั้นตามสัญญา สิ้นเงิน ๒๗ โกฏิ ทั้งพระราชกุมารเจ้าของที่ให้สัญญาขอให้จาลึกพระนามของพระองค์ว่า “ เชตวัน ” ติดไว้ที่ซุ้มประตูพระอาราม ซึ่งเป็นส่วนของพระองค์สร้างอีกด้วย

ท่านมหาเศรษฐีได้บริจาคทรัพย์สร้างพระคันธกุฎีและเสนาสนะอันควร แก่ สมณะวิสัย พร้อมหมดทุกอย่างด้วยอำนาจเงินอีก ๒๗ โกฎิ เมื่อพระเชตวันวิหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทูลอัญเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมาจำพรรษา สมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จมาสถิตยังพระมหาวิหารเชตวัน ในความอุปถัมภ์บำรุงของพุทธบริษัท มีท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี เป็นประมุข พระศาสดาและพระสงฆ์ ได้รับความสุขตามควรแก่วิสัย ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัททั้งหลายให้เลื่อมใส มั่นอยู่ในคุณพระรัตนตรัยเป็นอันมาก.

ครั้งนั้น พระนันทะ พุทธอนุชา เกิดความกระสันต์เป็นทุกข์ใจ ด้วยไม่มีความเลื่อมใสในการบรรชา ครั้นพระบรมศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้มาเฝ้าแล้วตรัสถาม พระนันทะทูลความว่า ตนมีจิตกำหนัดคำนึงถึงนางชนปทกัลยาณ

ลำดับนั้น พระชินสีห์จึงทรงจูงกรของพระอนุชา สำแดงอิทธานุภาพ พาพระนันทะขึ้นไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก บันดาลให้เห็นแม่วานรตัวหนึ่งในระหว่างทาง แล้วทรงพาขึ้นไปบันดาลให้เห็นนางเทพอัปสรกัญญา ซึ่งมีกายงามวิจิตรเจริญตา กำลังดำเนินขึ้นไปเฝ้าท้าวสหัสสนัยยังเทพวิมาน จึงตรัสถามว่า "นันทะ นางชนปทกัลยาณีที่เธอมีใจรัญจวนถึงนั้น กับนางอัปสรเหล่านี้ นางไหนจะงามกว่ากัน"

พระนันทะกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค จะเอานางชนปทกัลยาณี มาเปรียบกับนางฟ้านั้นผิดกันไกล นางชนปทกัลยาณีหากจะเปรียบเทียบก็ได้เท่ากับแม่วานรในระหว่างทางเท่านั้น "

"นันทะ ผิว่าเธอยินดีรักใคร่นางฟ้าทั้งหลายนี้ ตถาคตรับรองจะช่วยให้ได้นางฟ้าสำเร็จตามความปรารถนาของเธอ"

"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม ถ้าพระองค์จะทรงพระกรุณาช่วยให้ข้าพระองค์ได้นางฟ้านี้สมความปรารถนาแล้วไซร้ ข้าพระองค์ยินดีจะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ไม่รัญจวนจิตคิดออกไป"

พระบรมศาสดาตรัสว่า "นันทะ ตถาคตรับรอง" แล้วก็ทรงพาพระนันทะอันตรธารจากเทวโลก มาปรากฎ ณ พระเชตวัน

ครั้งนั้น บรรดาภิกษุที่เป็นเพื่อนพระนันทะทราบเหตุ ต่างก็พากันพูดเคาะพระนันทะว่า "ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนางฟ้า โดยมีพระบรมศาสดาเป็นผู้รับรองจะสงเคราะห์ให ้" พระนันทะคิดละอายใจ จึงหลีกออกไปอยู่ในที่สงัด บำเพ็ญสมณธรรมแต่ผู้เดียว ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล.

๖ กษัตริย์จากศากยสกุล ออกผนวช
วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังมหาชนบท ประทับอยู่ที่อนุปิยะอัมพวันใกล้บ้านอนุปิยะมลานิคม แขวงเมืองพาราณสี ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะ ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา เข้าไปหาพระอนุรุทธะ ผู้เป็นอนุชา ทรงปรารถว่า "ในตระกูลเรา ยังไม่มีใครออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย ฉะนั้น ในเราสองคน คือ อนุรุทธะกับพี่ จะต้องออกบวชคนหนึ่ง พี่จะให้อนุรุทธะเลือกเอา อนุรุทธะจะบวชหรือจะให้พี่บวช"

เนื่องจากพระอนุรุทธะ เป็นพระโอรสพระองค์เล็ก ของพระเจ้าอมิโตทนะ พระมารดารักมาก ทั้งเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีบุญมาก ได้รับความรักใคร่เมตตาปราณีจากพระญาติทั้งหลายเป็นอันมาก ดังนั้น อนุรุทธะกุมารจึงทูลว่า "หม่อมฉันบวชไม่ได้ดอก ขอให้เจ้าพี่บวชเถอะ"

พระมหานามะจึงรับสั่งว่า "ถ้าอนุรุทธจะอยู่ ก็ต้องศึกษาเรื่องการครองเรือน เรื่องบำรุงวงศ์ตระกูลให้จงดี" และพระมหานามะ ก็ถวายคำแนะนำการครองชีพด้วยกสิกรรม ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ อนุรุทธะกุมารก็ฟังแล้วทรงระอาในการงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อกันไปไม่รู้สิ้น จึงรับสั่งว่า "ถ้าเช่นนั้น ให้เจ้าพี่อยู่เถอะ หม่อมฉันจะบวชเอง รำคาญที่จะต้องไปวุ่นอยู่กับงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อไม่รู้สิ้น" รับสั่งแล้วก็ลาพระมารดาขออนุญาตบรรพชาตามพระบรมศาสดา พระมารดาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง ภายหลังทรงอนุญาตเป็นนัยว่า "ถ้าพระภัททิยะราชกุมาร ผู้เป็นโอรสของพระนางกาฬีโคธาศากยะวงศ์ ผู้เป็นเพื่อนเล่นที่สนิทสนมของพ่อจะออกบรรพชา พ่อจะบรรพชาด้วยก็ตามเถิด" พระอนุรุทธะก็ไปชวนพระภัททิยะ ให้ออกบวชด้วยกัน แต่วิงวอนชวนอยู่ถึง ๗ วัน พระภัททิยะจึงยินยอมปฎิญญาว่าจะบวชด้วย

ในกาลนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ คือ พระภัททิยะ ๑ พระอนุรุทธะ ๑ พระอานนท์ ๑ พระภัคคุ ๑ พระกิมพิละ ๑ พระเทวทัต ๑ ได้พร้อมใจกันจะออกบรรพชา ชวน อุบาลี อำมาตย์ ช่างกัลบก(๑) เป็น ๗ ด้วยกัน เดินทางไปสู่มลรัฐชนบทเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยะอัมพวัน ถวายอภิวาทแล้ว ขอประทานบรรพชาอุปสมบท

อนึ่ง ก่อนแต่พระบรมศาสดาจะทรงประทานบรรพชา พระอนุรุทธะได้กราบทูลว่า "ข้าแต่ผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เป็นกษัตริย์ สูงด้วยขัตติยะมานะอันกล้า ขอให้พระองค์ประทานบรรพชาแก่อุบาลี อำมาตย์ ผู้รับใช้สอยติดตาม ของมวลข้าพระองค์ก่อน ให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรพชาต่อภายหลัง จะได้คารวะ ไหว้นบ เคารพนับถืออุบาลี ผู้บวชแล้วก่อน บรรเทาขัตติยะมานะให้บางเบาจากสันดาน"

พระบรมศาสดาจึงได้ประทานอุปสมบทแก่อุบาลี กัลบกก่อน แล้วจึงประทานอุปสมบทแก่ ๖ กษัตริย์ในภายหลัง พระภัททิยะ นั้น ได้สำเร็จไตรวิชา พระอรหัตตผลในพรรษานั้น พระอนุรุทธะ ได้บรรลุทิพจักษุญาณก่อน ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนา มหาปุริสวิตักสูตร จึงสำเร็จพระอรหัตตผล พระอานนท์ นั้น ได้บรรลุอริยะผลเพียงพระโสดาบัน พระภัคคุ และ พระกิมพิละ เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุพระอรหัตตผล ส่วนพระเทวทัตนั้น ได้บรรลุปุถุชนฤทธิ์ อันเป็นของโลกิยะบุคคล

04 June 2009

เสด็จกลับมาตุภูมิ โปรดพระพุทธบิดา

พระเจ้าสุทโธทนะ ส่งทูตทูลอาราธนา
ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ณ พระนครกบิลพัสดุ์ เมื่อได้ทรงทราบพระเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ ก็ทรงปิติโสมนัส ที่พระโอรสของพระองค์ได้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ สมดังคำพยากรณ์ของ ท่านอาจารย์อสิตดาบสและพราหมณาจารย์ทั้ง ๘ คน ทรงตั้งพระทัยคอยเวลาอยู่ว่า เมื่อใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงจะเสด็จไปพระนครกบิลพัสดุ์

ครั้นไม่ได้ข่าววี่แววมาเลยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ ก็ทรงร้อนพระทัยปรารถนาจะให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์ จึงทรงส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารคณะหนึ่ง ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร กราบทูลอาราธนาให้เสด็จยังพระนครกบิลพัสดุ์ ครั้นอำมาตย์และบริวารคณะนั้นเดินทางจากพระนครกบิลพัสดุ์ ถึงพระนครราชคฤห์ อันมีระยะทาง ๖๐ โยชน์ ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาที่พระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ได้โอกาสฟังธรรมด้วย ครั้นฟังธรรมแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตทั้งคณะ ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ไม่ได้โอกาสที่จะกราบทูลความตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงบัญชามา

ครั้นล่วงมาหลายเวลา พระเจ้าสุทโธทนะเห็นอำมาตย์คณะนั้นหายไป ก็ทรงส่งอำมาตย์ใหม่ออกติดตาม และกราบทูลความประสงค์ของพระองค์ อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จ แม้อำมาตย์ราชทูตคณะนี้ ก็ได้ฟังธรรมบรรลุมรรคผล และได้ อุปสมบทในพระศาสนา เช่นอำมาตย์คณะนั้น พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งอำมาตย์ไปอารธนาไม่เป็นผลสมพระทัยดังนี้ถึง ๙ ครั้ง ครั้งสุดท้ายทรงน้อยพระทัย รับสั่งเรื่องนี้ แก่กาฬุทายี อำมาตย์ผู้ใหญ่ ขอมอบเรื่องให้กาฬุทายีอำมาตย์ช่วยจัดการให้สมพระราชประสงค์ ด้วยทรงเห็นว่ากาฬุทายี เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่สนิทสนม เป็นที่ไว้วางพระทัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแต่ก่อน ทั้งเป็นสหชาติของพระบรมศาสดาด้วย

กาฬุทายีรับสนองพระบัญชาพระเจ้าสุทโธทนะว่า "จะพยายามกราบทูลเชิญเสด็จให้สมพระราชประสงค์ให้จงได้" แต่ได้กราบทูลลาอุปสมบทด้วย เพราะแน่ใจว่าตนควรจะได้อุปสมบทในสมัยที่เป็นโอกาสอันดีงามเช่นนี้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะจำ ต้องพระราชทานให้กาฬุมายีตามที่ทูลขอด้วยความเสียดาย หากแต่ดีพระทัยว่า กาฬุทายีอำมาตย์จะได้ทูลอัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สมประสงค์

ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์ พร้อมด้วยบริวารเดินทางมาถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยบริวาร แล้วทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุด้วยกันสิ้น เมื่อพระกาฬุทายีเถระเจ้าบวชแล้วได้ ๘ วัน ก็พอสิ้นเหมันตฤดู จะย่างขึ้นฤดูคิมหันต์ ถึงวันผคุณมาสปุรณมี คือ วันเพ็ญเดือน ๔ พอดี

พระกาฬุทายีเถระ ทูลนิมนต์ด้วย ๖๔ คาถา
พระเถระเจ้ากาฬุทายีจึงดำริว่า พรุ่งนี้ก็เป็นเวลาย่างเข้าฤดูร้อน บรรดาเหล่าชาวกสิกรทั้งหลายก็เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ มรรคาทีจะเสด็จไปสู่นครกบิลพัสดุ์ก็สะดวกสบาย พฤกษาชาติก็เกิดเรียรายอยู่ริมทางก็ให้ความร่มเย็นเป็นอย่างดี สมควรที่พระชินศรีบรมศาสดาจะเสด็จดำเนินไปกรุงกบิลพัสดุ์ แสดงธรรมโปรดพระมหากษัตริย์สุทโธทนะ พระพุทธบิดา ตลอดพระบรมวงศานุวงศ์ศากยราชดำริแล้วพระเถระเจ้าก็เข้าเฝ้าพระบรมโลกนาถยังพระคันธกุฎิ ทูลสรรเสริญมรรคาทางไปกบิลพัสดุ์บุรี เป็นสุขวิถีทางดำเนินสะดวกสบายตลอดมรรคา ยามเมื่อแสงแดดแผดกล้า ก็มีร่มไม้ได้พักร้อนเป็นที่รื่นรมย์ตลอดระยะทาง ๖๐ โยชน์ หากพระองค์จะทรงบำเพ็ญปรหิตประโยชน์ โปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์นคร ก็จะเป็นที่สำราญพระกายไม่ต้องรีบร้อนยามเสด็จพระพุทธลีลา ตลอดพระสงฆ์สาวกที่จะติดตามพระบาทา ก็จะไม่ลำบากด้วยน้ำท่าและกระยาหาร ด้วยตามระยะทางมีโคจรคามเป็นที่ภิกษาจารตลอดสาย

อนึ่ง พระบรมชนกนาถก็มีพระทัยมุ่งหมาย ใคร่จะได้ประสบพบพระองค์ ตลอดพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด หากพระองค์จะทรงพระกรุณาเสด็จไปให้สมมโนรถของพระชนกนาถ ตลอดทั่วพระประยูรญาติศากวงศ์ แล้วประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงที่กบิลพัสดุ์บุรี ก็จะเป็นเกียรติเป็นศรีแก่พระพุทธศาสนา นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ปวงมหาชน เป็นศิริมงคลแก่อนุชนคนภายหลังชั่วกาลนาน ข้าพระองค์ขออัญเชิญพระพิชิตมารเสด็จสู่กบิลพัสดุ์บุรี โปรดพระชนกและพระประยูรญาติให้ปิติยินดีในคราวนี้เถิด

เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับสุนทรกถา ที่กาฬุทายีเถระเจ้ากราบทูลพรรณา รวม ๖๔ คาถา วิจิตรพิสดาร ก็ทรงตรัสสาธุการแก่พระกาฬุทายี ตรัสว่า " ตถาคตจะเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์บุรีตามคำของท่าน ณ กาลบัดนี้ ฉะนั้นท่านจงแจ้งข่าวแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย ให้ตระเตรียมการเดินทางไกล ตามตถาคตประสงค์ที่จะเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์บุรี

เมื่อพระกาฬุทายีออกมาประกาศให้มวลพระสงฆ์ ที่มาสันนิบาตอยู่พร้อมหน้าให้ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว บรรดาพระสงฆ์ขีณาสพทุก ๆ องค์ ก็เตรียมบาตรจีวร มาสโมสรรอเสด็จพระบรมศาสดาตามวันเวลาที่กำหนด ครั้นได้เวลาพระบรมศาสดาจารย์พร้อมด้วยพระสงฆ์ขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นประมาณเสด็จดำเนินไปยังกบิลพัสดุ์นคร เสด็จโดยมิได้รีบร้อนตามสบาย ประมาณระยะทางเดินได้วันละ ๑ โยชน์พอดี
ฝ่ายพระกาฬุทายีได้ส่งข่าวเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์ ของพระชินศรีสัมพุทธเจ้าแด่พระเจ้าสุทโธทนะบรมกษัตริย์ ท้าวเธอได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสเบิกบาน แจ้งข่าวสารแก่มวลพระประยูรญาติทั้งศากยราช และโกลิยะวงศ์ ในเทวทหะนคร พระญาติทั้งสองฝ่ายได้มาสโมสรประชุมกันต้อนรับที่กบิลพัสดุ์บุรี ด้วยความปิติยินดีเกษมสานต์ ได้ร่วมกำลังสร้างนิโครธมหาวิหาร พร้อมด้วยเสนาสนะและพระคันธกุฎิ เพื่อรับรองพระชินศรีและพระสงฆ์สาวกพุทธบริษัท เป็นสถานที่งดงามและเงียบสงัดควรแก่สมณะวิสัยเป็นอย่างดี


เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์
ครั้นสมเด็จพระชินศรี พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จถึงกบิลพัสดุ์นคร บรรดาพระประยูรญาติที่มาสโมสรต้อนรับอยู่ทั่วหน้า มีพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เป็นประธาน ต่างแสดงออกซึ่งความเบิกบานตามแก่วิสัย แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าไปประทับยังพระนิโครธารามพระมหาวิหาร พระบรมศาสดาจารย์ก็เสด็จขึ้นประทับบนพระบวรพุทธอาสน์ บรรดาพระสงฆ์ ๒ หมื่นต่างก็ขึ้นนั่งบนเสนาสนะอันมโหฬาร ดูงามตระการปรากฏ สมเกียรติศากยบุตรพุทธชิโนรสบรรดามี

ครั้งนั้น บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลาย มีมานะทิฏฐิอันกล้า นึกละอายใจไม่อาจน้อมประณมหัตถ์ถวายนมัสการพระบรมศาสดาได้ ด้วยดำริว่า " พระสิตธัตถะกุมาร มีอายุยังอ่อน ไม่สมควรแก่ชุลีกรนมัสการ จึงจัดให้พระประยูรญาติราชกุมาร ที่พระชนมายุน้อยคราวน้อง คราวบุตร หลาน ออกไปนั่งอยู่ข้างหน้า เพื่อจะได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา ซึ่งเห็นว่าควรแก่วิสัย ส่วนพระประยูรญาติผู้ใหญ่พากันประทับ นั่งอยู่เบื้องหลังเหล่าพระราชกุมาร ไม่ประณมหัตถ์ ไม่นมัสการ หรือคารวะแต่ประการใด ด้วยมานะจิตคิดในใจว่าตนแก่กว่า ไม่ควรจะวันทาพระสิตธัตถะกุมาร "

เมื่อพระบรมศาสดาจารย์ได้ทรงประสบเหตุ ทรงพระประสงค์จะให้เกิดสลดจิต คิดสังเวชแก่พระประยูรญาติ ที่มีมานะจิตคิดมมังการ จึงทรงสำแดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศ ให้ปรากฏประหนึ่งว่าละอองธุลีบาทได้หล่นลงตรงเศียรเกล้า แห่งพระประยูรญาติทั้งหลาย ด้วยพุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์

ครานั้น พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช พระพุทธบิดา ได้ทรงเห็นปาฏิหาริย์เป็น มหัศจรรย์ จึงประณมหัตถ์ถวายนมัสการแล้วกราบทูลว่า " ข้าแต่พระผู้มีพระภาคแต่กาลก่อน เมื่อพระองค์ทรงประสูติใหม่ได้ ๑ วัน หม่อมฉันให้พระพี่เลี้ยงนำมาเพื่อนมัสการพระกาลเทวิลดาบส พระองค์ก็ทรงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏขึ้นไปอยู่บนชฎาพระกาลเทวิลอาจารย์ แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ได้ถวายนมัสการเป็นปฐม ต่อมางานพระราชพิธีนิยม ประกอบการวัปปมงคลแรกนาขวัญ พระพี่เลี้ยงนางนมได้นำพระองค์ประทับบรรทมใต้ร่มไม้หว้า ครั้นเวลาบ่าย เงาไม้ก็ไม่ได้ชายไปตามตะวัน เป็นปาฏิหาริย์ที่มหัศจรรย์ได้ปรากฏ แม้ครั้งนั้นหม่อมฉันก็ได้ประณตนมัสการเป็นคำรบสอง ควรแก่การสดุดี รวมเป็นสามครั้งกับครั้งนี้ ที่หม่อมฉันได้อัญชลีนมัสการ "

เมื่อสุดสิ้นพระราชบรรหารแห่งพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช บรรดาเหล่าพระประยูรญาติสิ้นทั้งหมด ก็พากันยอกรประณตอภิวาทพระบรมศาสดา ด้วยคารวะเป็นอันดี

ต่อนั้น พระมหามุนีบรมสุคตเจ้า ก็เสด็จลงจากอากาศ ประทับนั่งลงบนพระพุทธาอาสน์ในท่ามกลางพระบรมประยูรญาติสมาคม เป็นที่ชื่นชมโสมนัส สุดจะประมาณด้วยบุญญาภินิหารพระโลกนาถ ขณะนั้น มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในอากาศ บันดาลหยาดฝนโบกขรพรรษให้ตกลงในที่พระขัติยะประยูรวงศ์ประชุมกัน น้ำฝนโบกขรพรรษนั้น มีสีแดงหลั่งไหลเสียงสนั่นลั่นออกไปไกล เหมือนเสียงสายฝนธรรมดา ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกาย จึงจะเปียกกาย ถ้าไม่ปรารถนาแล้ว แม้แต่เม็ดหนึ่งก็มิได้เปียกตัว เหมือนหยาดน้ำตกลงในใบบัว แล้วก็กลิ้งตกลงไปมิได้ติดอยู่ให้เปียก ดังนั้น จึงได้นามขนานขานเรียกว่า "ฝนโบกขรพรรษ" เป็นมหัศจรรย์
ครั้งนั้น พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ชวนกันพิศวง ต่างองค์ก็สนทนาว่า มิได้เคยเห็นมาแต่ก่อนกาล พระองค์จึงมีพุทธบรรหารตรัสว่า "ฝนโบกขรพรรษนี้ มิใช่จะตกในที่ชุมนุมพระประยูรญาติในครั้งนี้เท่านั้น ก็หาไม่ ในอดีตสมัย เมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดร บรมโพธิสัตว์ ฝนโบกขรพรรษก็เคยได้ตกลงในที่ชุมนุมพระประยูรญาติเหมือนครั้งนี้" แล้วสมเด็จพระมหามุนีจึงได้ทรงพระแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ยอยกพระมหาบารมีทาน เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระประยูรญาติก็ถวายนมัสการทูลลากลับพระราชนิเวศน์หมดด้วยกัน ไม่มีใครเฉลียวจิตคิดถึงวันยามอรุณรุ่งพรุ่งนี้ ว่าสมเด็จพระชินศรีและพระสงฆ์จะทรงเสวยบิณฑบาตรที่ใด จึงไม่มีใครทูลอาราธนาให้เสด็จไปเสวยภัตตาหารในเคหะสถานของตน ๆ ในกบิลพัสดุ์บุรี.

ครั้นสิ้นสมัยราตรีรุ่งเช้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จด้วยพระขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นบริวาร ทรงบาตรดำเนินภิกษาจารตามท้องถนนในกบิลพัสดุ์นคร ขณะนั้น มหาชนที่สัญจรในถนน ตลอดไปถึงทุก ๆ คน ทุกบ้านช่อง ต่างก็จ้องดูด้วยความเลื่อมใสและประหลาดใจระคนกัน ว่าไฉนพระผู้เป็นเจ้าสิทธัตถะกุมารจึงนำพระสงฆ์เที่ยวภิกษาจารด้วยอาการเช่นนี้ แล้วก็โจษจันกันอึงทั่วพระนคร
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบก็ตกพระทัย รีบเสด็จลงจากพระราชนิเวศน์ เสด็จพระราชดำเนินไปหยุดยืนเฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดาแล้วทูลว่า "ไฉนพระองค์จึงทรงทำให้หม่อมฉันได้รับความอัปยศ โดยเที่ยวภิกษาจารเช่นนี้"

สมเด็จพระชินสีห์จึงตรัสตอบว่า "ดูกรพระราชสมภาร อันการเที่ยวบิณฑบาตนี้ เป็นจารีตประเพณีของตถาคต"

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อันบรรดากษัตริย์ขัตติยสมมติวงค์องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเที่ยวบิณฑบาตเช่นนี้ยังจะมีอยู่ ณ ที่ใด ประเพณีของหม่อมฉันไม่เคยมีแต่ครั้งไหนในก่อนกาล"

"ดูกรพระราชสมภาร นับแต่ตถาคตได้บรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว ก็สิ้นสุดสมมติขัตติวงศ์ เริ่มประดิษฐานพุทธวงศ์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ ดังนั้น การเที่ยวบิณฑบาตจึงเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า ตลอดพระภิกษุสงฆ์ที่สืบสายพุทธวงศ์ชั่วนิรันดร"

พระเจ้าสุทโธทนะบรรลุโสดาบัน
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว จึงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงรับบาตรของพระบรมศาสดา ทูลอาราธนาให้เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ทรงอังคาสด้วยอาหารบิณฑบาตอันประณีต

วันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาตใน พระราชนิเวศน์เป็นวันที่สอง ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีและพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระนางมหาปชาบดีได้บรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธบิดาได้บรรลุสกิทาคามีผล

ประวัติพระอัครสาวก (พระสารีบุตร-พระโมคคัลลานะ)


สองสหาย เพื่อนแท้
สมัยนั้น มีหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ ใกล้กรุงราชคฤห์ ๒ หมู่บ้าน เรียกว่า อุปติสสะคามบ้าน ๑ โกลิตคาม บ้าน ๑ บุตรคนใหญ่ของนายบ้านอุปติสสะคาม ซึ่งเกิดแต่นางสารีพราหมณี ชื่อว่า อุปดิสสะ บุตรคนใหญ่ของนายบ้านโกลิตะคาม ซึ่งเกิดแต่นางโมคคัลลีพราหมณี ชื่อ โกลิตะ และเนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองตั้งอยู่ไม่ไกลกัน มีฐานะทัดเทียมกัน ทั้งเคารพนับถือกันดี ดังนั้น บุตรของตระกูลทั้งสองนี้จึงรักใคร่ ไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม คบหาสมาคมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ไว้วางใจกันเป็นอย่างดี

อุปดิสสะ กับโกลิตะ มีอายุคราวเดียวกัน เป็นสหชาติร่วมปีเกิด เดือนเกิดแต่อุปดิสสะแก่วันกว่า โกลิตะจึงเรียกอุปดิสสะว่า พี่ ในฐานะแก่กว่า คนทั้งสองเจริญวัยอยู่ในความอุปถัมภ์บำรุงของบิดามารดาเป็นอย่างดี มีเด็กในหมู่บ้านทั้งสองเป็นเพื่อนฝูงกันแต่เยาว์วัยก็มาก แม้เมื่อมีอายุควรแก่การศึกษาแล้ว คนทั้งสองตลอดมิตรสหายก็ได้เข้าศึกษาศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน แม้เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ยังเป็นเพื่อนร่วมงาน ร่วมความสนุกสนาน บันเทิงด้วยกันด้วยดีเสมอมา ในการชมมหรศพถึงคราวสรวลเสเฮฮา ก็สรวลเสเฮฮาด้วย ถึงคราวสลดใจก็สลดใจด้วย คราวเบิกบานใจ ควรตกรางวัล ก็ตกรางวัลให้ด้วยกัน

วันหนึ่ง มีงานมหรศพบนภูเขา มีผู้คนไปมาก อุปดิสสะมานพ และโกลิตะมานพก็ไปชมด้วยกัน แต่เป็นด้วยทั้งสองมานพมีบารมีญาณแก่กล้า ดูมหรศพด้วยพิจารณา เห็นความจริงของกัปปกิริยาอาการของคนแสดงและคนดู รวมทั้งตนเองด้วย ปรากฏอยู่ในสถานะที่ไม่น่าจะนิยมชมชื่นเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น การชมมหรศพก็ไม่ออกรส ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนแต่ก่อน หน้าตาก็ไม่เบิกบาน คิดว่า อีกไม่ถึง ๑๐๐ ปี ทั้งคนแสดงและคนดูก็ตายหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อันใดในการมาดูมหรศพนี้เลย ควรจะแสวงหาโมกขธรรมประเสริฐกว่า

ครั้นมานพทั้งสองได้ใต่ถามถึงความรู้สึกนึกคิด ทราบความประสงค์ตรงกันเช่นนั้นก็ดีใจ และอุปดิสสะมานพก็กล่าวกะโกลิตะมานพว่า เมื่อเราทั้งสองมีความตรึกตรองต้องกันเช่นนี้แล้ว สมควรจะบวชแสวงหาโมกขธรรมด้วยกันเถิด เมื่อตกลงใจออกบวชด้วยกันแล้ว โกลิตะมานพจึงปรึกษาว่า เราจะบวชในสำนักอาจารย์ใดดี

สมัยนั้น สญชัยปริพพาชก เป็นอาจารย์ใหญ่ อยู่ในเมืองราชคฤห์สำนักหนึ่งที่มีบริษัทบริวารมาก มานพทั้งสองจึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า เราควรจะไปบวชในสำนักอาจารย์สญชัยปริพพาชก ครั้นตกลงใจแล้ว มานพทั้งสองต่างก็พาบริวารของตนรวม ๕๐๐ คน เข้าไปหาท่านอาจารย์สญชัยปริพพาชก ขอบวชและอยู่ศึกษาในสำนักนั้น

จำเดิมแต่มานพทั้งสอง เข้าไปบวชเป็นศิษย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพพาชกไม่นาน สำนักก็เจริญ เป็นที่นิยมของมหาชนเป็นอันมาก ลาภสักการะพร้อมด้วยยศก็เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

เมื่ออุปดิสสะมานพและโกลิตะมานพบวชเป็นปริพพาชก ศึกษาลัทธิของอาจารย์สญชัยไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ จึงได้เรียนถามว่า " ท่านอาจารย์ ลัทธิของท่านอาจารย์มีเท่านี้แหละหรือ ? " อาจารย์สญชัยก็บอกว่า " ลัทธิของเรามีเพียงเท่านี้ ท่านทั้งสองเรียนจบบริบูรณ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ข้าพเจ้ารู้โดยท่านไม่รู้เลย " แล้วตั้งให้อุปดิสสะมานพ และโกลิตะมานพทั้งสอง เป็นอาจารย์สอนศิษย์ในสำนัก มีศักดิ์เสมอด้วยตน

มานพทั้งสองปรึกษากันว่า การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักนี้หาประโยชน์มิได้ ด้วยไม่เป็นทางให้เข้าถึงโมกขธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการหลุดพ้นได้ ความจริงชมพูทวีปนี้ก็กว้างใหญ่ คงจะมีท่านที่มีความรู้สอนให้เราเข้าถึงโมกขธรรมได้ ควรเราจะเที่ยวสืบเสาะ แสวงหาดู แล้วมานพทั้งสองก็ลาอาจารย์เที่ยวเสาะแสวงหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเป็นอาจารย์สอนโมกขธรรมให้ แม้พยายามเที่ยวไปในชนบทน้อยใหญ่ ได้ข่าวว่ามีอาจารย์ในสำนักใดดี มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมนับถือ ก็เข้าไปไต่ถาม ขอรับความรู้ความแนะนำ แต่แล้วก็ไม่สมประสงค์ เพราะทุกอาจารย์ที่เข้าไปไต่ถามต่างก็ยอมจำนน ด้วยไม่สามารถบรรเทาความสงสัย ให้ความเบิกบานเคารพนับถือได้ เมื่อได้ท่องเที่ยวทุกแห่งจนสุดความสามารถ สิ้นศรัทธาที่จะพยายามสืบเสาะต่อไปอีกแล้ว มานพทั้งสองก็กลับมาอยู่ในสำนักอาจารย์เดิมดังกล่าว ต่างให้สัญญาไว้แก่กันว่า ผิว์ผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกให้แก่ผู้หนึ่งได้รู้เช่นกัน


ในกาลนั้น พอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จไปตรัสเทศนาธรรมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ ตราบเท่าจนส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ ออกไปเที่ยวประกาศพระศาสนาแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชฎิล ๑,๐๐๐ รูป แล้วเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จประทับอยู่ในพระเวฬุวันวิหาร ครั้งนั้น พระอัสสชิเถระเจ้า ซึ่งอยู่ในคณะภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้ออกประกาศพระศาสนาจาริกมาสู่เมืองราชคฤห์ เวลาเช้าทรงบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตภายในเมือง ขณะนั้น พออุปดิสสะปริพพาชกบริโภคอาหารเช้าแล้ว เดินไปสู่อารามปริพพาชก เห็นพระอัสสชิเถระเจ้า ซึ่งสมบูรณ์ด้วยอาจาระ ตามสมณะวิสัย จะก้าวไปข้างหน้า หรือจะถอยกลับ มีสติสังวรเป็นอันดี มีจักษุทอด พอประมาณทุกขณะ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เป็นที่พึงตาพึงใจของอุปดิสสะเป็นอย่างมาก ดำริว่า บรรพชิตมีกริยาอาการในรูปนี้ เรามิได้เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ท่านผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ในโลกนี้ บรรพชิตรูปนี้จะต้องนับเข้าในพระอรหันต์พวกนั้นรูปหนึ่งเป็นแน่แท้ ควรเราจะเข้าหาสมณะรูปนี้เพื่อได้ศึกษา ขอรับข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุโมกขธรรมเช่นท่านบ้าง แต่แล้วอุปดิสสะมานพก็กลับได้สติ ดำริใหม่ว่า "ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยวบิณฑบาตของภิกษุรูปนี้อยู่ ไม่สมควรที่เราจะเข้าไปไต่ถาม" ครั้นอุปดิสสะดำริฉะนี้แล้ว ก็เดินติดตามท่านภายในระยะทางพอสมควร

ฟังธรรมพระอัสสชิเถระ (หนึ่งในพระปัญจวัคคีย์)
ครั้นพระอัสสชิเถระเจ้าได้บิณฑบาตแล้ว หลีกไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าควรจะเป็นที่นั่งทำภัตตกิจได้ อุปดิสสะปริพพาชกได้รีบเข้าไปใกล้ จัดตั้งอาสนะถวายแล้วนั่งปฏิบัติ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน ครั้นพระเถระเจ้าทำภัตตกิจเสร็จแล้ว อุปดิสสะปริพพาชก จึงกล่าวปฏิสันถารด้วยคารวะว่า " ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ ใบหน้าของท่านผ่องใสยิ่งนัก แสดงว่าท่านมีความสุข แม้ผิวพรรณของท่านก็สอาดบริสุทธิ ประทานโทษ ท่านบรรพชาต่อท่านผู้ใด ? ใครเป็นครูอาจารย์ของท่าน และท่านได้เล่าเรียนธรรมในผู้ใด ? "

พระเถระเจ้าตอบว่า " ดูกรปริพพาชก พระมหาสมณะศากยบุตร เสด็จออกบรรพชาจากศากยราชตระกูล พระองค์นั้น เป็นบรมครูของฉัน ฉันบวชต่อพระศาสดาพระองค์นั้น และเล่าเรียนธรรมในพระศาสดาพระองค์นั้นแล " อุปดิสสะปริพพาชกจึงเรียนถามต่อไปว่า "อาจารย์ของท่านสอนธรรมอย่างไรแก่ท่าน ?"

พระเถระเจ้าดำริว่า ธรรมดาปริพพาชกย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา ควรอาตมาจะแสดงคุณแห่งพระศาสนา โดยความเป็นธรรมลึกซึ้งและประณีตสุขุมเถิด ครั้นแล้วจึงบอกว่า " ดูกรปริพพาชก อาตมาเพิ่งบวชใหม่ ไม่อาจแสดงธรรมวินัย โดยพิศดารแก่เธอได้ดอก " อุปดิสสะปริพพาชกจึงได้เรียนปฏิบัติท่านว่า " ข้าพเจ้าชื่อว่า อุปดิสสะ ขอให้พระเถระเจ้ากรุณาบอกธรรมเพียงแต่ย่อ ๆ เถิด "

พระอัสสชิเถระเจ้า กล่าวคาถาแสดงวัตถุประสงค์ของพระศาสนาว่า "เย ธม.มา เหตุปป.ภวา" เป็นอาทิ ความว่า "ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งเหตุของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสสอนอย่างนี้"

อุปติสสะบรรลุโสดาบัน
อุปดิสสะปริพพาชกได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นสัจจะธรรมถึงบรรลุโสดาปัตติผล โดยสดับเทศนาหัวใจพระศาสนา ของพระเถระเจ้าเพียงคาถาหนึ่งเท่านั้น แล้วเรียนท่านโดยคารวะว่า " ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขอประทานกรุณาหยุดเพียงนี้เถิด อย่าแสดงต่อไปอีกเลย เวลานี้พระบรมศาสดาของเราเสด็จอยู่ที่ไหน ? "

พระเถระเจ้าบอกว่า "เวลานี้ พระบรมศาสดายังเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร "
"เป็นพระคุณหาที่สุดมิได้" อุปดิสสะอุทานวาจาออกด้วยความซาบซึ้งในธรรม และในความกรุณาของพระเถระเจ้า " นิมนต์ท่านอาจารย์ไปก่อนเถิด แล้วข้าพเจ้าจะตามไปภายหลัง ด้วยข้าพเจ้าได้ให้สัญญาไว้กับโกลิตะมานพสหายที่รักว่า " ถ้าผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกแก่กันให้รู้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะกลับไปเปลื้องสัญญาเสียก่อน แล้วจะพาสหายผู้นั้นไปสู่สำนักพระบรมศาสดาของเราต่อภายหลัง" แล้วกราบพระเถระเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ด้วยความเคารพ กระทำประทักษิณเดินเวียน ๓ รอบ แล้วส่งพระเถระเจ้าไปก่อน ส่วนตนออกเดินบ่ายหน้าไปสู่ปริพพาชการาม

ส่วนโกลิตะปริพพาชกเห็นสหายเดินมาแต่ไกล จึงดำริว่า ใบหน้าของสหายเรา วันนี้ ดูเบิกบาน ผ่องใสยิ่งกว่าวันอื่น ๆ ชะรอยจะได้โมกขธรรมเป็นแน่แท้ ครั้นอุปดิสสะปริพพาชกเข้ามาใกล้ จึงถามตามความคิด อุปดิสสะก็บอกว่า "ตนได้บรรลุโมกขธรรมแล้ว มานี่ก็เพื่อบอกโมกขธรรมนั้นแก่สหาย ให้เป็นไปตามสัญญาของเราที่ ให้กันไว้แต่แรก ขอสหายจงตั้งใจฟังเถิด" แล้วอุปดิสสะก็แสดงคาถาหัวใจของพระศาสนา ซึ่งตนได้สดับมาจากพระอัสสชิเถระเจ้า พออุปดิสสะแสดงจบลง โกลิตะปริพพาชกก็ได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นในอริยสัจจะ บรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกับอุปดิสสะปริพพาชก

โกลิตะจึงกล่าวแก่อุปดิสสะว่า "เราทั้งสองได้บรรลุโมกธรรมแล้ว ควรจะไปสำนักพระบรมศาสดากันเถิด " อุปดิสสะเป็นผู้เคารพบูชาอาจารย์มาก จึงตอบว่า " ถูกแล้ว เราทั้งสองควรจะไปเฝ้าพระบรมศาสดาดังที่เธอกล่าว ก่อนแต่จะจากสำนักนี้ไปเราทั้งสองควรจะไปอำลาท่านสญชัยอาจารย์ แล้วหาโอกาสแสดงโมกขธรรมให้ฟัง ถ้าอาจารย์ของเรามี วาสนาบารมี ก็จะพลอยได้รู้โมกขธรรมด้วยกัน แม้ไม่ถึงอย่างนั้นเพียงแต่ท่านเชื่อฟัง แล้วพากันไปสู่สำนักพระบรมศาสดา เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว ก็จะได้บรรลุมรรคและผลตามวาสนาบารมีเป็นแน่ "

ครั้นสองสหายปรึกษาตกลงกันแล้ว ก็พากันเข้าไปหาท่านสญชัยอาจารย์ บอกให้ทราบว่า บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วนั้น เป็นนิยยานิกธรรม สามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์โดยชอบได้จริง พระสงฆ์สาวกก็ปฏิบัติชอบด้วยสุปฎิบัติ ท่านอาจารย์จงมาร่วมกันไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังพระเวฬุวันสถานนั้นเถิด

สญชัยปริพาชก ถามว่า "โลกนี้ คนโง่หรือคนฉลาด มากกว่ากัน?"
ท่านสญชัยปริพพาชกจึงกล่าวห้ามว่า "ใยท่านทั้งสองจึงมาเจรจาเช่นนี้ เรามีลาภมียศใหญ่ยิ่ง เป็นเจ้าสำนักใหญ่โตถึงเพียงนี้แล้ว ยังควรจะไปเป็นศิษย์ของใครในสำนักใดอีกเล่า ? " แต่แล้วก็คิดว่า อุปดิสสะและโกลิตะทั้งสองนี้เป็นคนดีมีปัญญาสามารถ น่าที่จะบรรลุโมกขธรรมตามที่ปรารถนายิ่งนักแล้ว คงจะไม่ฟังคำห้ามปรามของตน จึงกล่าวใหม่ว่า "ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยถึงความชราแล้ว ไม่อาจจะไปเป็นศิษย์ของผู้ใดได้ดอก "

"ท่านอาจารย์อย่ากล่าวดังนั้นเลย" สหายทั้งสองวิงวอน "ไม่ควรที่ท่านอาจารย์จะคิดเช่นนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ดังดวงอาทิตย์อุทัยให้ความสว่างแล้ว คนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วท่านอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร"

"พ่ออุปดิสสะ ในโลกนี้ คนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก ?" สญชัยปริพพาชกถามอย่างมีท่าเลี่ยง แต่อุปดิสสะตอบตรง ๆ โดยความเคารพว่า "คนโง่สิมาก ท่านอาจารย์ คนฉลาดมีปัญญาสามารถ จะมีสักกี่คน"

"จริง ! อย่างพ่ออุปดิสสะพูด" สญชัยปริพพาชกกล่าวอย่างละเมียดละไม "คนฉลาดมีน้อย คนโง่มีมาก อุปดิสสะ เพราะเหตุนี้แหละ เราจึงไม่ไปด้วยท่าน เราจะอยู่ในสำนักของเรา อยู่ต้อนรับคนโง่ คนโง่อันมีปริมาณมากจะมาหาเรา ส่วนคนฉลาดจะไปหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราไม่ไปด้วยแล้ว"

แม้สหายทั้งสอง จะพูดจาหว่านล้อมสญชัยปริพพาชกด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ไม่สามารถจะโน้มน้าวจิตใจของสญชัยปริพพาชกให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดาได้ อุปดิสสะและโกลิตะจึงชวนปริพพาชก ผู้เป็นบริวารของตน จำนวน ๒๕๐ คน ลาอาจารย์สญชัยไปเฝ้าพระบรมศาสดา ยังพระเวฬุวันวิหาร

ขณะนั้น เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นอุปดิสสะและโกลิตะ พาบริษัทของตนตรงเข้ามาแต่ไกลเช่นนั้นจึงรับสั่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย โน่น ! คู่อัครสาวกของตถาคตมาแล้ว พาบริวารของเธอมาให้ตถาคตด้วย" เมื่อปริพพาชกทั้งหลายเข้ามาเฝ้าแล้ว พระบรมศาสดาก็แสดงธรรมโดยควรแก่อุปนิสัยของปริพพาชกเหล่านั้น ครั้นจบพระธรรมเทศนา ปริพพาชกทั้งหมด เว้นอุปดิสสะและโกลิตะได้บรรลุอรหัตตผลด้วยกันสิ้น

สหายทั้งสองจึงพาบริษัทของตนทั้งหมดเข้ากราบทูลขอประทานอุปสมบท สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสมบทแก่ปริพพาชกทั้ง ๒๕๐ คนนั้น เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วตรัสเรียกชื่อสหายทั้งสองนั้นตามนามของมารดา คือ รับสั่งเรียกอุปดิสสะ ผู้เป็นบุตรของนางสารีพราหมณีว่า สารีบุตร รับสั่งเรียก โกลิตะ ผู้เป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณีว่า โมคคัลลานะ อาศัยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งเรียกท่านทั้งสองเช่นนั้นในท่ามกลางบริษัท ๔ พุทธบริษัทจึงนิยมเรียกท่านด้วยชื่อที่ได้รับพระมหากรุณาประทานใหม่ตลอดอายุของท่าน และนิยมเรียกมาจนบัดนี้

พระโมคคัลลานะ บรรลุพระอรหันต์ (ก่อน)
ฝ่ายพระโมคคัลลานะ อุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน หลีกไปทำความเพียรอยู่ในเสนาสนะป่า ใกล้บ้านกัลลวาละมุตตคาม ในแคว้นมคธ ความง่วงครอบงำนั่งโงกอยู่พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ตรัสบอกอุบายระงับความง่วงให้อันตรธานแล้ว ทรงประทานโอวาทในธาตุกัมมักฏฐาน พระโมคคัลลานะได้สดับแล้วปฏิบัติตาม ก็ได้บรรลุพระอรหัตในวันนั้น


พระสารีบุตร บรรลุพระอรหันต์ (หลัง)
ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน ตามพระบรมศาสดาไปอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา ใกล้กรุงราชคฤห์ ได้สดับพระธรรมเทศนา เวทนาปริคคหสูตร ซึ่งพระบรมศาสดา ทรงแสดงแก่ปริพพาชกชื่อว่า ทีฆนขะ อัคคิเวสนโคตร ผู้เป็นหลานของพระเถระเจ้า พระเถระเจ้าตั้งใจกำหนดพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัต ส่วนทีฆนขะปริพพาชกได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล


ทรงแต่งตั้งพระอัครสาวก
ในกาลนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงตั้งพระเถระเจ้าทั้งสองไว้ในตำแหน่ง คู่แห่งอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย
เนื่องจากวันที่พระสารีบุตรเถระเจ้า ได้บรรลุพระอรหัต เป็นวันมาฆปรุณมีเพ็ญเดือน ๓ เวลาบ่าย พระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่เวฬุวัน พระอรหันต์ขีณาสพเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ คือ พระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ พระคยากัสสปเถระ รวม ๑,๐๐๐ องค์ กับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ รวม ๒๕๐ องค์ รวมทั้งสองคณะ ๑,๒๕๐ องค์ ได้พร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี จึงได้เสด็จในท่ามกลางพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์นั้น แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ ประทานธรรมอันเป็นหลักแห่งพระศาสนา เพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไป.

02 June 2009

ประวัติกรุงราชคฤห์

โปรดพระเจ้าพิมพิสารมหาราช
พระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ที่อุรุเวลาเสนานิคม โดยสำราญ พอสมควรแก่กาลแล้ว ทรงพระประสงค์จะประดิษฐานพระศาสนาให้มั่นคงที่พระนครราชคฤห์ และทรงพระประสงค์จะเปลื้องปฏิญญาที่ทรงประทานแก่พระเจ้าพิมพิสารไว้แต่แรก จึงชวนพระอริยสาวก ๑,๐๐๐ องค์ มีพระอุรุเวลากัสสปเป็นประธานเสด็จไปยังมคธรัฐ ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวัน ใกล้พระนครราชคฤห์
ครั้นนายอุทยานบาลได้เห็นพระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระขีนาสพ ๑,๐๐๐ เป็นบริวาร ก็มีใจชื่นบานเลื่อมใส รีบนำเรื่องเข้าไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบแล้ว ก็ทรงโสมนัสเสด็จออกจากพระนคร พร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดี ๑๒ หมื่นเป็นราชบริพาร เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังลัฏฐิวันสถาน ถวายความเคารพในพระรัตนตรัยด้วยพระราชศรัทธา

ส่วนพราหมณ์และคหบดีทั้งหลายนั้น มีอัธยาศัยแตกต่างกัน บางพวกถวายนมัสการแล้วก็นั่ง บางพวกก็กล่าวสัมโมทนียกถาถวายความยินดี ในการที่พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่พระนครราชคฤห์ บางพวกถวายความยินดีที่มีโอกาสมาเข้าเฝ้า ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกก็นั่งเฉยอยู่ บางพวกบางหมู่ก็ปริวิตกจิตคิดไปต่าง ๆ ว่า พระสมณะโคดมบวชในสำนักท่านอุรุเวลกัสสป หรือท่านอุรุเวลกัสสปบวชในสำนักพระสมณะโคดม หรือใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กัน


ลำดับนั้น พระบรมศาสดา ทรงทราบด้วยพระญาณ ทรงพระประสงค์จะบรรเทาทิฏฐิของราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร จึงทรงพระดำรัสแก่อุรุเวลกัสสปว่า "เธอเห็นโทษในการบูชาไฟอย่างไร จึงได้เลิกละการบูชาไฟเสีย"

พระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า การบูชายัญญ์ทั้งหลายมีความใคร่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นสิ่งที่พอใจ น่าปรารถนา เป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุแห่งความเร่าร้อนเพราะความไม่สมปรารถนาบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามอำนาจบ้าง ไม่เป็นทางให้สิ้นทุกข์โดยชอบ ข้าพระองค์จึงได้ละยัญญ์เหล่านั้นเสีย"
ครั้นพระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลดังนั้นแล้ว มีความประสงค์จะสำแดงตนให้พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายรู้ว่าตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกระทำจีวรเฉวียงบ่า ถวายบังคมพระบรมศาสดา กราบทูลด้วยเสียงอันดังด้วยอาการคารวะว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า" และกระทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศสูงประมาณ ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงมาถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยอาการนี้ถึง ๗ ครั้ง ยังความสงสัยของพราหมณ์และคหบดีเป็นราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารทั้ง หมดในที่นั้น ให้เสื่อมสิ้นไป พร้อมกับได้ความเลื่อมใสและความอัศจรรย์ในพระบรมศาสดา ตั้งใจสดับธรรมโดยคารวะ

ลำดับนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงแสดงจตุราริยสัจ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร ๑๑ หมื่น ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล อีก ๑ หมื่น ให้ได้ความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพระรัตนตรัย เป็นอุบาสกในพระศาสนา

เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวายความยินดีเลื่อมใสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นขัตติยราชกุมาร อยู่นั้น หม่อมฉันได้ตั้งความปรารถนาเป็นมโนปณิธานไว้ ๕ ข้อ คือ

๑. ขอให้ได้รับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติในราชอาณาจักรนี้

๒. ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมาสู่แคว้นของหม่อมฉัน

๓. ขอให้หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๔. ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงพระกรุณาประทานธรรมเทศนาแด่หม่อมฉัน และ

๕. ขอให้หม่อมฉันได้รู้ทั่วถึงในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทาน

บัดนี้ มโนปณิธานทั้ง ๕ ประการ ที่หม่อมฉันตั้งไว้นั้น ได้สำเร็จแล้วทุกประการ หม่อมฉันมีความโสมนัสเบิกบาน ในพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง หม่อมฉันขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า กับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งปวงจงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้ พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณีย์ ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระบรมศาสดา ทรงรับอาราธนาแล้ว ก็ถวายอภิวาททูลลา พาราชบริพารเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร

ครั้นวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ๑,๐๐๐ เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังพระนครราชคฤห์ เสด็จสู่พระราชนิเวศน์ ขึ้นประทับยังพระบวรพุทธาอาสน์ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช พร้อมด้วยราชบริพารทรงถวายมหาทาน อังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระหัตถ์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสร็จการเสวยแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ลัฏฐิวัน ที่ทรงประทับอยู่นั้นเล็ก ทั้งไกลจากชุมนุมชนเกินพอดี ไม่สะดวกแก่ผู้มีศรัทธา มีกิจจะพึงไป หม่อมฉันขอถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม ด้วยเป็นสถานที่กว้างใหญ่ มีเสนาสนะเรียบร้อย ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไกลจากชุมนุมชน เงียบสงัด ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน ผู้มีกิจจะพึงไปถึงได้ไม่ลำบาก สมเป็นพุทธาธิวาสอันพระองค์จะทรงประทับ" กราบทูลแล้ว ก็ทรงจับพระเต้าทองหลั่งน้ำทักษิโณทก ให้ตกลงที่พระหัตถ์พระบรมศาสดา ถวายพระราชอุทยาน เวฬุวันเป็นสังฆาราม เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา
พระบรมศาสดาทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆารามแล้ว ทรงอนุโมทนา พาพระสงฆ์สาวกเสด็จกลับประทับยังพระเวฬุวันวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระศาสนาอันมโหฬารทั้งงามตระการและมั่นคง ควรแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งมาแต่จตุรทิศจะพึงเข้าพำนักอยู่อาศัย เป็นความ สะดวกสบายแก่สมณะเพศ ที่โลกยกย่องว่าเป็นบุญญเขตควรแก่การบูชา มหาชนมีรัศมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หลั่งไหลกันมาสดับธรรมเทศนาเป็นอันมากเป็นอันว่า พระบรมศาสดาได้เริ่มประดิษฐานพระศาสนา เป็นหลักฐานลงที่พระเวฬุวันวิหาร ณ พระนครราชคฤห์ เกียรติศักดิ์เกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนา ได้เริ่มแพร่ไป ในประชุมชนตามตำบลน้อยใหญ่เป็นลำดับ

27 May 2009

พระพุทธประวัติ (๖) ประกาศพระศาสนา

แสดงธรรมแก่ยสะกุลบุตรลูกเศรษฐี
ในสมัยนั้น มีมาณพผู้หนึ่ง ชื่อว่า ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงฆาร มีเรือน ๓ หลัง เป็นที่อยู่ประจำใน ๓ ฤดู อย่างผาสุก อิ่มอยู่ในกามสุขตามฆราวาสวิสัย ครั้งนั้น ในฤดูฝน พรรษากาลที่พระสัมพุทธเจ้า ทรงจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลแต่บ้านยสะมานพ ราตรีวันหนึ่ง ยสะมานพนอนหลับก่อน เหล่านางบำเรอและบริวารนอนหลับภายหลัง แสงชวาลาที่ตามไว้ยังสว่างอยู่ ยสะมานพตื่นขึ้นเห็นบริวารเหล่านั้นนอนหลับอยู่ ปราศจากสติสัมปชัญญะ แสดงอาการวิกลวิกาลไปต่าง ๆ บ้างกรน คราง ละเมอ เพ้อพึมพำ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีดังแต่ก่อน ปรากฏแก่ยสะมานพ เหมือนซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า ยสะมานพเห็นแล้วเกิดความสลดใจ เบื่อหน่าย รำคาญ อยู่ในห้องไม่ติด ออกอุทานด้วยความสังเวชใจว่า “ ที่นี่วุ่นวาย ไม่เป็นสุข ” แล้วออกจากห้องสรวมรองเท้า เดินออกจากประตูเรือน ตรงไปทางที่จะไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ในเวลานั้น จวนใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสะมานพ เดินบ่นมาด้วยความสลดใจ ใกล้ที่จงกรมเช่นนั้น จึงรับสั่งเรียกด้วยพระมหากรุณาว่า "ยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ยสะ ที่นี่สงบ เป็นสุข ยสะ ท่านมาที่นี่เถิด" ฝ่ายยสะมานพได้ยินเสียงพระศาสดารับสั่งว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย สงบ เป็นสุข" ก็ดีใจ ถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ด้วยความสบายใจ

พระศาสดาตรัสเทศนาโปรดยสะมานพด้วย อนุปุพพิกถา แสดงถึงปฏิปทาเบื้องต้น ที่คฤหัสถ์ชนจะพึงสดับ และปฏิบัติตามได้โดยลำดับ คือ

๑. ทาน พรรณาความเสียสละ ให้ด้วยความยินดี เพื่อบูชาคุณของท่านผู้มีคุณ ด้วยความกตัญญู ด้วยความเคารพนับถือ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลฉันท์ญาติมิตร ด้วยความไมตรี ด้วยน้ำใจอันงาม เพื่ออนุเคราะห์ผู้น้อย ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยความกรุณาสงสาร

๒. ศีล พรรณาความรักษากาย วาจา เป็นสุภาพ เรียบร้อย เว้นจากการเบียดเบียนกัน เพื่อความสงบสุข ตามหลักแห่งมนุษยธรรม

๓. สวรรค์ พรรณาถึงอานิสงส์ของผู้บำเพ็ญทาน รักษาศีล จะพึงได้พึงถึงความสุข อย่างเทพเจ้าในสรวงสวรรค์ ยิ่งกว่าความสุขของมนุษย์

๔. กามาทีนพ พรรณณาถึงโทษของกาม ของผู้บริโภคกาม ทั้งในมนุษย์ทั้งในสวรรค์ เป็นช่องทางแห่งทุกข์โทษ เพราะวุ่นวาย ไม่สงบ เดือดร้อน ไม่รู้จักสิ้นสุด น่าระอา น่าเบื่อหน่าย

๕. เนกขัมมานิสงส์ พรรณาถึงอานิสงส์ของการหลีกออกจากกาม เหมือนคนออกจากเรือนไฟที่กำลังติดอยู่ ไม่เร่าร้อน สงบ เย็นใจ เป็นสุข ไม่มีภัยไม่มีเวรทุกประการ

ฟอกจิตของยสะมานพ ให้ห่างไกลจากความยินดีในกามได้ธรรมจักษุ เหมือนผ้าที่ซักฟอกให้หมดมลทิน ควรจะรับน้ำย้อมได้แล้ว พระศาสดาจึงทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ , ทุกข์สมุทัย , เหตุให้ทุกข์เกิด, นิโรธ ความดับทุกข์ , และมรรคได้แก่ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ โปรดยสะมานพให้ได้เห็นธรรมพิเศษ ณ ที่นั่งนั้น

ฝ่ายมารดาของยสะมานพ ทราบว่าลูกชายหาย มีความเศร้าโศก บอกแก่เศรษฐีผู้เป็นสามี ท่านเศรษฐีตกใจให้คนออกติดตามตลอดทางทุกสาย แม้ตนเองก็ร้อนใจ อยู่ไม่ติด ก็ออกติดตามด้วย เผอิญเดินทางผ่านมาใกล้ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห็นรองเท้าของลูกก็จำได้ ดีใจ ตามเข้าไปหาจนถึงที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่

บิดาพระยสะ อุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นคนแรก
พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ โปรดท่านเศรษฐี ให้เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ท่านเศรษฐีได้เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยคนแรก ก่อนกว่าชนทั้งปวงในพระศาสนานี้

ขณะที่พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ โปรดท่านเศรษฐี ยสมานพนั่งอยู่ในที่นั้น ได้ฟังเทศนาทั้งสองเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งในที่นั่งนั้นเอง พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จอริยคุณเบื้องสูง เป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้น นับว่ายสะมานพ เป็น พระอรหันต์องค์แรกที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์ คือ ยังมิทันได้บวช ก็บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ซึ่งเป็นคุณสูงสุดในพระศาสนานี้

ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดา ไม่ทราบว่า ท่านยสะสิ้นอาสวะแล้ว จึงกล่าวแก่ยสะว่า "พ่อยสะ มารดาของเจ้า ไม่เห็นเจ้า มีความเศร้าโศกพิไรรำพันยิ่งนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด"

ท่านยสะแลดูพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาจึงตรัสบอกแก่เศรษฐีให้ทราบว่า "บัดนี้ ยสะ ได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์แล้ว มิใช่ผู้ที่จะกลับคืนไปครองฆราวาสอีก"

ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า "เป็นลาภอันประเสริฐของยสะแล้ว ขอให้ยสะได้รุ่งเรืองอยู่ในอนาคาริยวิสัยเถิด" แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับพระยสะให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตนในเช้าวันนั้น ครั้นทราบว่า พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยอาการดุษณีภาพแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับไปสู่เรือน แจ้งข่าวแก่ภรรยา พร้อมกับสั่งให้จัดแจงขาทนียะโภชนียาหารอันประณีต เพื่อถวายพระบรมศาสดา

เมื่อท่านเศรษฐีกลับแล้ว ยสะมานพได้กราบทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ พระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพิเศษ ด้วยยสะมานพได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์แล้ว เพียงแต่ทรงรับให้เข้าอยู่ในภาวะของภิกษุ ในพระธรรมวินัยได้เท่านั้น ดังนั้น จึงตรัสพระวาจาแต่สั้น ๆ ว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด" ตัดคำว่า "เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ" ข้างท้ายออกเสีย ด้วยพระยสะถึงที่สุดทุกข์แล้ว

อุบาสิกาคนแรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ในเวลาเช้าวันนั้น พระบรมศาสดาก็มีพระยสะ เป็นพระตามเสด็จ ๑ รูป เสด็จไปยังเรือนท่านเศรษฐีตามคำอาราธนา ประทับนั่งยังอาสนะที่ตกแต่งไว้ถวายเป็นอันดี มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะเข้าเฝ้า พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้สตรีทั้งสองนั้นได้ธรรมจักษุ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปฏิญาณตนเป็นอุบาสิกาของถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้เป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา ก่อนกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในโลกนี้

ครั้นได้เวลาภัตตกิจ มารดาบิดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้จัดการอังคาสด้วยชัชชโภชนาหารอันประณีตด้วยมือของตนเอง เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว พระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนา ให้อุบาสกอุบาสิกาทั้ง ๓ นั้น อาจหาญ ร่าเริงในธรรม เป็นอันดีแล้ว เสด็จกลับประทับยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ครั้งนั้น มีเศรษฐีบุตรชาวเมืองพาราณสี ๔ คน คือ วิมละ ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่ของพระยสะ ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระยสะออกบวช เกิดความสนใจใคร่จะรู้ธรรมที่พระยสะมุ่งหมายประพฤติพรต ดังนั้น สหายทั้ง ๔ คน จึงพร้อมกันไปพบพระยสะถึงที่อยู่ พระยสะได้พาสหายทั้ง ๔ คนนั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลให้ทรงสั่งสอน พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเศรษฐีบุตรทั้ง ๔ นั้น ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ ทั้งทรงสั่งสอนให้บรรลุพระอรหัตผลในกาลต่อมา ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลกเป็น ๑๑ องค์ด้วยกัน ทั้งพระบรมศาสดา

โปรดสหายพระยสะ
ต่อมามีสหายของพระยสะ ซึ่งเป็นชาวชนบท ๕๐ คน ได้ทราบข่าวพระยสะออกบวช มีความคิดเช่นเดียวกับสหายของพระยสะทั้ง ๔ นั้น จึงไปหาพระยสะที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้สดับธรรม มีความเลื่อมใส ได้อุปสมบท และได้บรรลุพระอรหัตผลด้วยกันทั้งหมดโดยนัยก่อน จึงเกิดมีพระอรหันต์รวมทั้งพระศาสดาด้วยเป็น ๖๑ องค์

เมื่อพระสาวกมีมาก พอจะเป็นกำลังช่วยพระองค์ออกประกาศพระศาสนา เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่คนเป็นอันมากได้แล้ว ครั้นออกพรรษาแล้ว จึงส่งพระสาวกทั้ง ๖๐ นั้นให้ออกไปประกาศพระศาสนาด้วยพระดำรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ! เราได้พ้นแล้วจากบ่วงเครื่องรึงรัดทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปในชนบท เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ต่างรูปต่างไป แต่ละทิศละทาง อย่าไปรวมกัน ๒ รูป ในทางเดียวกัน จงแสดงธรรมประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิบริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสบังปัญญาดุจธุลีในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้พึงถึง แล้วผู้ตรัสรู้ธรรมจักมีขึ้นตามโดยลำดับ แม้เราก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเช่นกัน"

ครั้นพระสาวกทั้ง ๖๐ องค์ ถวายบังคมลาพระบรมศาสดาออกจากป่าอิสิปตนะมิคทายวัน จาริกไปประกาศพระศาสนายังชนบทน้อยใหญ่ ตามพระพุทธประสงค์แล้ว ส่วนพระองค์ก็เสด็จดำเนินไปยังตำบลอุรุเวลา ครั้นถึงไร่ฝ้ายในระหว่างทาง เสด็จหยุดพักที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง
ขณะนั้น มานพ ๓๐ คน ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่กัน เรียกว่า " ภัททวัคคีย์ ์" อยู่ในราชตระกูลแห่งราชวงศ์โกศล ต่างคนต่างพาภรรยาของตน ๆ มาหาความสำราญ บังเอิญสหายคนหนึ่งไม่มีภรรยา สหายเหล่านั้นจึงไปหาหญิงโสเภณีคนหนึ่งมาให้เป็นเพื่อนร่วมความสำราญ ครั้นเผลอไป ไม่ระแวดระวัง หญิงโสเภณีคนนั้น ได้ลักเอาเครื่องแต่งกายและสิ่งของอันมีค่าหนีไป มานพทั้ง ๓๐ คนนั้น จึงออกเที่ยวติดตาม มาพบพระบรมศาสดาที่ไร่ฝ้ายนั้น มานพเหล่านั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลถามว่าพระองค์ได้ทรงเห็นหญิงผู้นั้นมาทางนี้หรือไม่ พร้อมกับได้ทูลถึงพฤติการณ์ของหญิงนั้นให้ทราบด้วย

พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสว่า "ภัททวัคคีย์ ท่านทั้งหลายจะแสวงหาหญิงผู้นั้นดี หรือจะแสวงหาตนของตนดี" ครั้นสหายเหล่านั้นกราบทูลว่า แสวงหาตนดีกว่า จึงรับสั่งว่าถ้าเช่นนั้นจงตั้งใจฟัง เราจะแสดงธรรมแก่ท่านทั้งหลาย แล้วทรงแสดง อนุปุพพกถา และ อริยสัจ ๔ ให้ภัททวัคคีย์มานพทั้ง ๓๐ นั้น ได้ดวงตาเห็นธรรม ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ แล้วทรงสั่งสอนให้บรรลุอริยผลเบื้องสูง ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาเช่นเดียวกับพระสาวก ๖๐ องค์ก่อนนั้น พระอริยสงฆ์คณะนี้ได้กราบทูลลาเดินทางไปยังเมืองปาวา ข้างใต้แห่งแว่นแคว้นโกศลชนบท

ครั้นพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกเหล่าภัททวัคคีย์ไปแล้ว ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลาประเทศ อันตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์มหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของอุรุเวลกัสสปอาจารย์ใหญ่ของชฎิล ๕๐๐

ราชคฤห์นครนั้น เป็นเมืองหลวงแห่งมคธรัฐ ซึ่งเป็นมหาประเทศ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองโดยสิทธิขาด เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คน เจริญวิทยาความรู้ ตลอดการค้าขาย เป็นที่รวมอยู่แห่งบรรดาคณาจารย์ เจ้าลัทธิมากในสมัยนั้น

แสดงธรรมโปรดฤษีเจ้าสำนักใหญ่ ๓ พี่น้อง
ในบรรดาคณาจารย์ใหญ่ ๆ นั้น ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นนักบวชจำพวกชฎิล ท่านมีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน ออกบวชจากตระกูลกัสสปะโคตร ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นพี่ชายใหญ่ มีชฎิล ๕๐๐ เป็นบริวาร ตั้งอาศรมสถานที่พนาสณฑ์ ตำบลอุรุเวลา ต้นแม่น้ำเนรัญชรานที ตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสป น้องคนกลาง มีชฎิลบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดเข้าไปอีกตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า นทีกัสสป ส่วนน้องคนเล็ก มีชฎิลบริวาร ๒๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่คุ้งใต้แห่งแม่น้ำเนรัญชรานั้นต่อไปอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า ตำบลคยาสีสะประเทศ จึงได้นามว่า คยากัสสป ชฎิลคณะนี้ทั้งหมดมีทิฏฐิหนักในการบูชาเพลิง

พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงอาศรมสถานของท่านอุรุเวลกัสสปในเวลาเย็น จึงเสด็จตรงไปพบอุรุเวลกัสสปทันที ทรงรับสั่งขอพักแรมด้วยสัก ๑ ราตรี อุรุเวลสสปรังเกียจทำอิดเอื้อน ไม่พอใจให้พัก เพราะเห็นพระบรมศาสดาเป็นนักบวชต่างจากลัทธิของตน พูดบ่ายเบี่ยงว่า ไม่มีที่ให้พัก ครั้นพระบรมศาสดาตรัสขอพักที่โรงไฟ ซึ่งเป็นสถานที่บูชาเพลิงของชฎิล ด้วยเป็นที่ว่าง ไม่มีชฏิลอยู่อาศัย ทั้งเป็นที่อยู่ของนาคราชดุร้ายด้วย อุรุเวลกัสสปได้ทูล ว่า พระองค์อย่าพอใจพักที่โรงไฟเลย ด้วยเป็นที่อยู่ของพระยานาคมีพิษร้ายแรง ทั้งดุร้ายที่สุด อาศัยอยู่ จะได้รับความเบียดเบียนจากนาคราชนั้น ให้ถึงอันตรายแก่ชีวิต เมื่อพระบรมศาสดารับสั่งยืนยันว่า นาคราชนั้นจะไม่เบียดเบียนพระองค์เลย ถ้าท่านอุรุเวลกัสสปอนุญาตให้เข้าอยู่ ท่านอุรุเวลกัสสปจึงได้อนุญาตให้เข้าไปพักแรม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ก็เสด็จเข้าไปยังโรงไฟนั้น ประทับนั่งดำรงพระสติ ต่อพระกัมมัฏฐานภาวนา ฝ่ายพระยานาค เห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาประทับในที่นั้นก็มีจิตคิดขึ้งเคียดจึงพ่นพิษตลบไป ในลำดับนั้น พระบรมศาสดาก็ทรงพระดำริว่า ควรที่ตถาคตจะแสดงอิทธานุภาพให้เป็นควันไปสัมผัสมังสฉวีและเอ็นอัฎฐิแห่งพระยานาคนี้ ระงับเดชพระยานาคให้เหือดหาย แล้วก็ทรงสำแดงอิทธาภิสังขารดังพระดำรินั้น พระยานาคมิอาจจะอดกลั้นซึ่งความพิโรธได้ ก็บังหวนพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้น พระบรมศาสดาก็สำแดงเตโชกสิณสมสบัติบันดาลเปลวเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ และเพลิงทั้งสองฝ่ายก็บังเกิดขึ้นแสง แดงสว่าง ดุจเผาผลาญซึ่งโรงไฟให้เป็นเถ้าธุรี ส่วนชฎิลทั้งหลายก็แวดล้อมรอบโรงไฟนั้น ต่างเจรจากันว่า พระสมณะนี้มีสิริรูปงามยิ่งนัก เสียดายที่เธอมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งพระยานาคในที่นั้น
ครั้นล่วงสมัยราตรีรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กำจัดฤทธิ์เดชพระยานาคให้อันตรธานหาย บันดาลให้นาคนั้นขดกายลงในบาตร แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวลกัสสป ตรัสบอกว่า พระยานาคนี้สิ้นฤทธิเดชแล้ว อุรุเวลกัสสปเห็นดังนั้นก็ดำริว่า พระสมณะนี้มี อานุภาพมาก ระงับเสียซึ่งฤทธิ์พระยานาคให้อันตรธานพ่ายแพ้ไปได้ ถึงดังนั้นไซร้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา มีจิตเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ จึงกล่าวว่า ข้าแต่สมณะนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ อาศรมของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะถวายภัตตาหารให้ฉันทุกวันเป็นนิต
พระบรมศาสดาก็เสด็จประทับยังพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ใกล้อาศรมแห่งอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้น ครั้นสมัยราตรีเป็นลำดับ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ก็ลงมาสู่สำนักพระบรมโลกนาถ ถวายอภิวาทและประดิษฐานยืนอยู่ใน ๔ ทิศ มีทิพยรังสีสว่างดุจกองเพลิงก่อไว้ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเวลาเช้า อุรุเวลกัสสปจึงเข้าไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลว่า นิมนต์พระสมณะไปฉันภัตตาหารเถิด ข้าพเจ้าตกแต่งไว้ถวายเสร็จแล้ว แต่เมื่อคืนนี้เห็นรัศมีสว่างไปทั่วพนัสมณฑลสถาน บุคคลผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์จึงปรากฏรุ่งเรืองในทิศทั้ง ๔ พระบรมศาสดาจึงตรัส บอกว่า ดูกรกัสสปนั้นคือ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ลงมาสู่สำนักตถาคตเพื่อฟังธรรม อุรุเวลกัสสปได้สดับดังนั้น ก็ดำริว่า พระมหาสมณะองค์นี้มีอานุภาพมาก ท้าวจาตุมหาราชยังลงมาสู่สำนัก ถึงกระนั้นก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา

พระบรมศาสดา เสด็จมากระทำภัตตกิจ เสวยภัตตาหารของอุรุเวลกัสสปเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับมาสู่ทิวาวิหารในพนาสณฑ์นั้น ครั้นรัตติกาลสมัย ท้าวสหัสสนัยก็ลงมาสู่สำนักพระบรมศาสดา ถวายนมัสการแล้วยืนอยู่ที่ควรข้างหนึ่ง เปล่งรัศมีสว่างดุจกองอัคคีใหญ่ไพโรจน์ยิ่งกว่าราตรีก่อน ครั้นเพลารุ่งเช้า กัสสปชฎฎิลไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลอาราธนาให้ฉันภัตตาหารแล้วทูลถามว่า เมื่อคืนนี้มีผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์ จึงมีรัศมีสว่างยิ่งกว่าราตรีก่อน ตรัสบอกว่า ดูกรกัสสป เมื่อคืนนี้ท้าวโกสีย์สักกเทวราชลงมาสู่สำนักตถาคต เพื่อจะฟังธรรม ชฎิล ได้สดับดังนั้น ก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจนัยก่อน

พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของกัสสปดาบส แล้วก็กลับมาอยู่ทิวาวิหารยังพนัสฐานที่นั้น ครั้นเข้าสมัยราตรี ท้าวสหัมบดีมหาพรหม ก็ส่งมาสู่สำนักพระบรมศาสดา เปล่งรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปกว่าสองราตรีนั้น ครั้นรุ่งเช้าอุรุเวลกัสสปก็ไปทูลอาราธนาฉันภัตตาหาร แล้วทูลถามอีก ตรัสตอบว่า คืนนี้ท้าวสหัมบดีพรหมลงมาสู่สำนักตถาคต กัสสปดาบสก็ดำริดุจนัยก่อน พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของอุรุเวลชฎิล แล้วก็กลับมาสู่สำนัก

ในวันรุ่งขึ้น มหายัญญลาภบังเกิดขึ้นแก่อุรุเวลชฎิล คือชนชาวอังครัฐทั้งหลาย จะนำเอาขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมาก มาถวายแก่อุรุเวลชฎิล ๆ จึงดำริแต่ในราตรีว่า รุ่งขึ้นพรุ่งนี้มหาชนจะนำเอาเอนกนานาหารมาสู่สำนักอาตมา หากพระสมณะรูปนี้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ ลาภสักการะก็จะบังเกิดแก่เธอเป็นอันมาก อาตมาจักเสื่อมสูญจากสรรพสักการบูชา ทำไฉน ณ วันพรุ่งนี้อย่าให้เธอมาสู่ที่นี้ได้

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบความดำริของชฎิลด้วยเจโตปริญาณ ครั้นเพลารุ่งเช้าก็เสด็จไปสู่อุตตรกุรุทวีป ทรงบิณฑบาตรได้ภัตตาหารแล้ว ก็เสด็จมากระทำภัตตกิจยังฝั่งอโนดาต แล้วทรงยับยั้งอยู่ ณ ทิวาวิหารในที่นั้น ต่อเพลาสายัณหสมัยจึงเสด็จมาสู่วนสณฑ์สำนัก ครั้นรุ่งเช้า กัสสปชฎิลไปทูลอาราธนาเสวยภัตตาหารและทูลถามว่า "วานนี้พระองค์ไปแสวงหาอาหารในที่ใด ไฉนไม่ไปสู่สำนักข้าพเจ้า ๆ ระลึกถึงพระองค์อยู่" จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกวาระน้ำจิตของชฎิลที่วิตกนั้นให้แจ้งทุกประการ อุรุเวลกัสสปได้สดับ ตกใจ ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีอานุภาพมากแท้ เธอล่วงรู้จิตอาตมาถึงดังนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ดังอาตมา

ในกาลนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรบังเกิดแก่พระบรมศาสดา พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินไปซักผ้าบังสุกุล ซึ่งห่อศพนางปุณณทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในอามกสุสานะป่าช้าผีดิบ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกษัตริย์อุภโตสุชาติ เสด็จจากขัตติยราชสกุลอันสูงด้วยเกียรติศักดิ์ ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ เป็นโมลีของโลกเห็นปานนี้แล้ว ยังทรงลดพระองค์ลงมาซักผ้าขาวที่ห่อศพนางปุณณทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในป่าช้า เพื่อทรงใช้เป็นผ้าจีวรทรงเช่นนี้ เป็นกรณียะที่สุดวิสัยของเทวดาและมนุษย์ซึ่งอยู่ในสถานะเช่นนั้นจะทำได้ มหาปฐพีใหญ่ก็กัมปนาทหวั่นไหวเป็นมหาอัศจรรย์ถึง ๓ ครั้ง ตลอด ระยะทางทรงพระดำริว่า ตถาคตจะซักผ้าบังสุกุลนี้ในที่ใด ? ขณะนั้น ท้าวสหัสสนัยอมรินทราธิราชทรงทราบในพุทธปริวิตก จึงเสด็จลงมาขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ในพื้นศิลา สำเร็จด้วยเทวฤทธิ์ให้เต็มไปด้วยอุทกวารี แล้วกราบทูลพระชินศรี ให้ทรงซักผ้าบังสุกุลในที่นั้น ขณะที่ทรงซัก ก็ทรงดำริว่า จะทรงขยำในที่ใดดี ท้าวโกสีย์ก็นำเอาแผ่นศิลาใหญ่เข้าไปถวาย ทรงขยำด้วยพระหัตถ์ จนหายกลิ่น ๔ อสุภ แล้วก็ทรงพระดำริว่าจะห้อยตากผ้าบังสุกุลจีวรในที่ใดดี ลำดับนั้นรุกขเทพยดา ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ไม้กุ่มบก ก็น้อมกิ่งไม้นั้นลงมาถวายให้ทรงห้อยตากจีวร ครั้นทรงห้อยตากแล้วก็ทรงพระจินตนาว่า จะแผ่พับผ้าในที่ใด ท้าวสหัสสนัยก็ยกแผ่นศิลาอันใหญ่มาทูลถวายให้แผ่พับผ้ามหาบังสุกุลนั้น

เพลารุ่งเช้าอรุณขึ้น อุรุเวลกัสสปไปเฝ้าพระบรมศาสดา เห็นสระและแผ่นศิลาทั้งสอง ซึ่งมิได้ปรากฏมีในที่นั้นมาก่อน และกิ่งไม้กุ่มน้อมลงมาเช่นนั้น จึงทูลถามพระบรมศาสดา ตรัสบอกความทั้งปวงให้ทราบ เมื่อกัสสปได้ฟังก็สดุ้งตกใจ ดำริว่า พระสมณะองค์นี้มีเดชานุภาพมากยิ่งนัก แม้ท้าวมัฆวาน ยังลงมากระทำการไวยาวัจจกิจถวาย แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา

สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของชฎิล แล้วก็กลับมาสถิตยังพนาสณฑ์ตำบลที่อาศัย ครั้นรุ่งขึ้นในวันเป็นลำดับ กัสสปชฎิลไปทูลนิมนต์ฉันภัตตกิจ จึงตรัสว่า "ท่านจงไปก่อนเถิด ตถาคตจะตามไปภายหลัง" เมื่อส่งชฎิลไปแล้ว จึงเสด็จเหาะไปนำเอาผลหว้าใหญ่ประจำทวีป ในป่าหิมพานต์มาแล้ว ก็เสด็จมาถึงโรงไฟก่อนหน้าชฎิล ครั้นชฎิลมาถึงจึงทูลถามว่า พระองค์มาทางใดจึงถึงก่อน พระศาสดาจึงตรัสบอกประพฤติเหตุแล้ว ตรัสว่า "ดูกรกัสสป ผลหว้าประจำทวีปนี้ มีวรรณสันฐานสุคันธรสเอมโอช ถ้าท่านปรารถนาจะบริโภคก็เชิญตามปรารถนา" อุรุเวลกัสสปก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจหนหลัง ครั้นพระศาสดาทรงทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับไปยังพนาสณฑ์ที่สำนัก

ในวันต่อมา ได้ทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์เช่นนั้นอีก ๔ ครั้ง คือ ทรงส่งอุรุเวลกัสสปมาก่อนแล้ว เสด็จเหาะไปเก็บผลมะม่วงครั้งหนึ่ง เก็บผลมะขามป้อมครั้งหนึ่ง เก็บผลส้มในป่าหิมพานต์ครั้งหนึ่ง เสด็จขึ้นไปดาวดึงส์เทวโลก นำเอาผลไม้ปาริฉัตตกครั้งหนึ่ง เสด็จมาถึงก่อน คอยท่าอุรุเวลกัสสปอยู่ที่โรงไฟ ให้ชฎิลเห็นเป็นอัศจรรย์ใจทุกครั้ง

วันหนึ่ง ชฎิลทั้งหลายปรารถนาจะก่อไฟ ก็มิอาจผ่าฟืนออกได้ จึงดำริว่าที่เป็นทั้งนี้ เพราะฤทธิ์พระมหาสมณะทำโดยแท้ พระบรมศาสดาจึงตรัสถาม ครั้นทราบความแล้วก็ตรัสว่า ท่านจงผ่าฟืนตามปรารถนาเถิด ในทันใดนั้น ชฎิลก็ผ่าฟืนออกได้ตามประสงค์

วันหนึ่ง ชฎิลทั้ง ๕๐๐ ปรารถนาจะบูชาเพลิง ก่อเพลิงก็ไม่ติด จึงคิดปริวิตกเหมือนหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ก่อเพลิงได้ เพลิงก็ติดขึ้นทั้ง ๕๐๐ กอง พร้อมกันในขณะเดียว ชฎิลทั้งหลายบูชาเพลิงสำเร็จแล้ว จะดับเพลิง ๆ ก็ไม่ดับ จึงดำริดุจหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้วก็ทรงอนุญาตให้ดับเพลิง ๆ ก็ดับพร้อมกันถึง ๕๐๐ กอง

วันหนึ่ง ในเวลาหนาว ชฎิลทั้งหลายลงอาบน้ำดำผุดขึ้นลงในแม่น้ำเนรัญชรานที สมเด็จพระชินสีห์ ผู้ทรงพระกรุณาแก่ชฎิล ทรงดำริว่า เมื่อชฎิลขึ้นจากน้ำแล้วจะหนาวมาก จึงทรงนิรมิตเชิงกราณประมาณ ๕๐๐ อัน มีเพลิงติดทั้งสิ้นไว้ในที่นั้น ครั้นชฎิลทั้งหลายขึ้นจากน้ำหนาวจัดก็ชวนกันเข้าผิงไฟที่เชิงกราณ แล้วก็คิดสันนิษฐานว่า พระมหาสมณะคงทรงนิรมิตไว้ให้เป็นแน่ น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก.

วันหนึ่ง มหาเมฆตั้งขึ้นมิใช่ฤดูกาล บันดาล ให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก กระแสน้ำเป็นห้วงใหญ่ไหลท่วมไปในที่ทั้งปวงโดยรอบบริเวณนั้น ธรรมดาว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จสถิตอยู่ ณ ประเทศใด แม้ที่นั้นน้ำท่วม ก็ทรงอธิษฐานมิให้น้ำท่วมเข้าไปในที่นั้นได้ และในครั้งนั้นก็ทรงดำริว่า ตถาคตจะยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไป ในทิศโดยรอบที่หว่างกลางนั้นจะมีพื้นภูมิภาคจะราบเรียบขึ้นปกติ ตถาคตจะจงกรมอยู่ในที่นั้น แล้วก็ทรงอธิษฐานบันดาลให้เป็นดังพุทธดำรินั้น

พระอุรุเวลกัสสป สำเร็จอรหันต์
ฝ่ายอุรุเวลกัสสปนั้น คิดว่าพระมหาสมณะนี้ น้ำจะท่วมเธอหรือไม่ท่วมประการใด หรือจะหลีกไปสู่ประเทศอื่น จึงลงเรือพร้อมกับชฎิลทั้งหลาย รีบพายไปดูโดยด่วนถึง ประเทศที่พระองค์ทรงสถิต ก็เห็นน้ำสูงขึ้นเป็นกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ แลเห็นพระบรมศาสดา เสด็จจงกรมอยู่ในพื้นภูมิภาคปราศจากน้ำ จึงส่งเสียงร้องเรียก พระพุทธเจ้าขานรับว่า "กัสสป ! ตถาคตอยู่ที่นี่" แล้วก็เสด็จเหาะขึ้นไปบนอากาศเลื่อนลอยลงสู่เรือของกัสสปชฎิล ๆ ก็ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีอิทธิฤทธิเป็นอันมาก แต่ถึงมีอานุภาพมากอย่างนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา

แท้จริง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปตนะมิคทายวัน ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนกัตติมาส ( เดือน ๑๒ ) มาประทับอยู่ที่อุรุเวลาประเทศ จนตราบเท่าถึงวันเพ็ญ เดือน ๒ เป็นเวลาสองเดือน ทรงแสดงอิทธิปาฏิหารย์ทรมานอุรุเวลกัสสป โดยเอนกประการ อุรุเวลกัสสปก็ยังมีสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้น ด้วยทิฐิอันกล้ายิ่งนัก จึงทรงพระดำริว่า ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง จึงมีพระวาจาตรัสแก่ อุรุเวลกัสสปว่า "กัสสป ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ อรหัตทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกลมิใช่ทางมรรคผลอันใด ไฉนเล่าท่านจึงถือตนว่า เป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตัวเอง ทั้ง ๆ ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า ตัวยังมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด ยังทำตนลวงคนอื่นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อีก กัสสป ! ถึงเวลาอันควรแล้ว ที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า ท่านยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย กัสสป ! แล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน" เมื่ออุรุเวลกัสสปได้สดับพระโอวาทก็รู้สึกตัว ละอายแก่ใจ ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบท ในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์และพระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "กัสสป ! ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่านจงชี้แจง ให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจะให้บรรพชาอุปสมบท" อุรุเวลกัสสปก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์ ๆ ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชา ในสำนักพระบรมครูสิ้น แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยดาบบส บริขาร และเครื่องตกแต่งผม ชฏา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังสือ ไม้สามง่าม ในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท ทูลขอบรรพชาอุปสทบท พระบรมศาสดาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน

พระนทีกัสสปะและพระคยากัสสปะ สำเร็จอรหันต์
ครั้งนั้น ท่านนทีกัสสปดาบส ผู้เป็นน้องกลาง เห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอย น้ำมาก็ดำริว่า ชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่ชาย จึงใช้ให้ชฎิลสองสามคนอันเป็นศิษย์ไปสืบดู รู้เหตุแล้ว นทีกัสสปดาบสก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์ มาสู่สำนักของท่านอุรุเวล กัสสป ถามเหตุนั้น ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใสชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น พากันเข้าถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้นดุจชฎิลพวกก่อนนั้น

ฝ่ายคยากัสสปดาบส ผู้เป็นน้องน้อย เห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำลงมาจำได้ ก็คิดดุจนทีกัสสปชฎิลผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสทั้ง ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักพระอุรุเวลกัสสป ไต่ถามทราบความแล้วเลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสชล ดุจหนหลัง แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้า ทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง มีอุรุเวลกัสสป เป็นต้น กับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฐิแห่งตน แล้วโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะประเทศ ตรัสพระธรรมเทศ นา อาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุ ๑,๐๐๐ นั้น ให้บรรลุพระอรหัตด้วยกันทั้งสิ้น.
free counters