04 June 2009

เสด็จกลับมาตุภูมิ โปรดพระพุทธบิดา

พระเจ้าสุทโธทนะ ส่งทูตทูลอาราธนา
ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ณ พระนครกบิลพัสดุ์ เมื่อได้ทรงทราบพระเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ ก็ทรงปิติโสมนัส ที่พระโอรสของพระองค์ได้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ สมดังคำพยากรณ์ของ ท่านอาจารย์อสิตดาบสและพราหมณาจารย์ทั้ง ๘ คน ทรงตั้งพระทัยคอยเวลาอยู่ว่า เมื่อใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงจะเสด็จไปพระนครกบิลพัสดุ์

ครั้นไม่ได้ข่าววี่แววมาเลยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ ก็ทรงร้อนพระทัยปรารถนาจะให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์ จึงทรงส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารคณะหนึ่ง ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร กราบทูลอาราธนาให้เสด็จยังพระนครกบิลพัสดุ์ ครั้นอำมาตย์และบริวารคณะนั้นเดินทางจากพระนครกบิลพัสดุ์ ถึงพระนครราชคฤห์ อันมีระยะทาง ๖๐ โยชน์ ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาที่พระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ได้โอกาสฟังธรรมด้วย ครั้นฟังธรรมแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตทั้งคณะ ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ไม่ได้โอกาสที่จะกราบทูลความตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงบัญชามา

ครั้นล่วงมาหลายเวลา พระเจ้าสุทโธทนะเห็นอำมาตย์คณะนั้นหายไป ก็ทรงส่งอำมาตย์ใหม่ออกติดตาม และกราบทูลความประสงค์ของพระองค์ อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จ แม้อำมาตย์ราชทูตคณะนี้ ก็ได้ฟังธรรมบรรลุมรรคผล และได้ อุปสมบทในพระศาสนา เช่นอำมาตย์คณะนั้น พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งอำมาตย์ไปอารธนาไม่เป็นผลสมพระทัยดังนี้ถึง ๙ ครั้ง ครั้งสุดท้ายทรงน้อยพระทัย รับสั่งเรื่องนี้ แก่กาฬุทายี อำมาตย์ผู้ใหญ่ ขอมอบเรื่องให้กาฬุทายีอำมาตย์ช่วยจัดการให้สมพระราชประสงค์ ด้วยทรงเห็นว่ากาฬุทายี เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่สนิทสนม เป็นที่ไว้วางพระทัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแต่ก่อน ทั้งเป็นสหชาติของพระบรมศาสดาด้วย

กาฬุทายีรับสนองพระบัญชาพระเจ้าสุทโธทนะว่า "จะพยายามกราบทูลเชิญเสด็จให้สมพระราชประสงค์ให้จงได้" แต่ได้กราบทูลลาอุปสมบทด้วย เพราะแน่ใจว่าตนควรจะได้อุปสมบทในสมัยที่เป็นโอกาสอันดีงามเช่นนี้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะจำ ต้องพระราชทานให้กาฬุมายีตามที่ทูลขอด้วยความเสียดาย หากแต่ดีพระทัยว่า กาฬุทายีอำมาตย์จะได้ทูลอัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สมประสงค์

ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์ พร้อมด้วยบริวารเดินทางมาถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยบริวาร แล้วทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุด้วยกันสิ้น เมื่อพระกาฬุทายีเถระเจ้าบวชแล้วได้ ๘ วัน ก็พอสิ้นเหมันตฤดู จะย่างขึ้นฤดูคิมหันต์ ถึงวันผคุณมาสปุรณมี คือ วันเพ็ญเดือน ๔ พอดี

พระกาฬุทายีเถระ ทูลนิมนต์ด้วย ๖๔ คาถา
พระเถระเจ้ากาฬุทายีจึงดำริว่า พรุ่งนี้ก็เป็นเวลาย่างเข้าฤดูร้อน บรรดาเหล่าชาวกสิกรทั้งหลายก็เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ มรรคาทีจะเสด็จไปสู่นครกบิลพัสดุ์ก็สะดวกสบาย พฤกษาชาติก็เกิดเรียรายอยู่ริมทางก็ให้ความร่มเย็นเป็นอย่างดี สมควรที่พระชินศรีบรมศาสดาจะเสด็จดำเนินไปกรุงกบิลพัสดุ์ แสดงธรรมโปรดพระมหากษัตริย์สุทโธทนะ พระพุทธบิดา ตลอดพระบรมวงศานุวงศ์ศากยราชดำริแล้วพระเถระเจ้าก็เข้าเฝ้าพระบรมโลกนาถยังพระคันธกุฎิ ทูลสรรเสริญมรรคาทางไปกบิลพัสดุ์บุรี เป็นสุขวิถีทางดำเนินสะดวกสบายตลอดมรรคา ยามเมื่อแสงแดดแผดกล้า ก็มีร่มไม้ได้พักร้อนเป็นที่รื่นรมย์ตลอดระยะทาง ๖๐ โยชน์ หากพระองค์จะทรงบำเพ็ญปรหิตประโยชน์ โปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์นคร ก็จะเป็นที่สำราญพระกายไม่ต้องรีบร้อนยามเสด็จพระพุทธลีลา ตลอดพระสงฆ์สาวกที่จะติดตามพระบาทา ก็จะไม่ลำบากด้วยน้ำท่าและกระยาหาร ด้วยตามระยะทางมีโคจรคามเป็นที่ภิกษาจารตลอดสาย

อนึ่ง พระบรมชนกนาถก็มีพระทัยมุ่งหมาย ใคร่จะได้ประสบพบพระองค์ ตลอดพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด หากพระองค์จะทรงพระกรุณาเสด็จไปให้สมมโนรถของพระชนกนาถ ตลอดทั่วพระประยูรญาติศากวงศ์ แล้วประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงที่กบิลพัสดุ์บุรี ก็จะเป็นเกียรติเป็นศรีแก่พระพุทธศาสนา นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ปวงมหาชน เป็นศิริมงคลแก่อนุชนคนภายหลังชั่วกาลนาน ข้าพระองค์ขออัญเชิญพระพิชิตมารเสด็จสู่กบิลพัสดุ์บุรี โปรดพระชนกและพระประยูรญาติให้ปิติยินดีในคราวนี้เถิด

เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับสุนทรกถา ที่กาฬุทายีเถระเจ้ากราบทูลพรรณา รวม ๖๔ คาถา วิจิตรพิสดาร ก็ทรงตรัสสาธุการแก่พระกาฬุทายี ตรัสว่า " ตถาคตจะเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์บุรีตามคำของท่าน ณ กาลบัดนี้ ฉะนั้นท่านจงแจ้งข่าวแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย ให้ตระเตรียมการเดินทางไกล ตามตถาคตประสงค์ที่จะเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์บุรี

เมื่อพระกาฬุทายีออกมาประกาศให้มวลพระสงฆ์ ที่มาสันนิบาตอยู่พร้อมหน้าให้ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว บรรดาพระสงฆ์ขีณาสพทุก ๆ องค์ ก็เตรียมบาตรจีวร มาสโมสรรอเสด็จพระบรมศาสดาตามวันเวลาที่กำหนด ครั้นได้เวลาพระบรมศาสดาจารย์พร้อมด้วยพระสงฆ์ขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นประมาณเสด็จดำเนินไปยังกบิลพัสดุ์นคร เสด็จโดยมิได้รีบร้อนตามสบาย ประมาณระยะทางเดินได้วันละ ๑ โยชน์พอดี
ฝ่ายพระกาฬุทายีได้ส่งข่าวเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์ ของพระชินศรีสัมพุทธเจ้าแด่พระเจ้าสุทโธทนะบรมกษัตริย์ ท้าวเธอได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสเบิกบาน แจ้งข่าวสารแก่มวลพระประยูรญาติทั้งศากยราช และโกลิยะวงศ์ ในเทวทหะนคร พระญาติทั้งสองฝ่ายได้มาสโมสรประชุมกันต้อนรับที่กบิลพัสดุ์บุรี ด้วยความปิติยินดีเกษมสานต์ ได้ร่วมกำลังสร้างนิโครธมหาวิหาร พร้อมด้วยเสนาสนะและพระคันธกุฎิ เพื่อรับรองพระชินศรีและพระสงฆ์สาวกพุทธบริษัท เป็นสถานที่งดงามและเงียบสงัดควรแก่สมณะวิสัยเป็นอย่างดี


เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์
ครั้นสมเด็จพระชินศรี พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จถึงกบิลพัสดุ์นคร บรรดาพระประยูรญาติที่มาสโมสรต้อนรับอยู่ทั่วหน้า มีพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เป็นประธาน ต่างแสดงออกซึ่งความเบิกบานตามแก่วิสัย แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าไปประทับยังพระนิโครธารามพระมหาวิหาร พระบรมศาสดาจารย์ก็เสด็จขึ้นประทับบนพระบวรพุทธอาสน์ บรรดาพระสงฆ์ ๒ หมื่นต่างก็ขึ้นนั่งบนเสนาสนะอันมโหฬาร ดูงามตระการปรากฏ สมเกียรติศากยบุตรพุทธชิโนรสบรรดามี

ครั้งนั้น บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลาย มีมานะทิฏฐิอันกล้า นึกละอายใจไม่อาจน้อมประณมหัตถ์ถวายนมัสการพระบรมศาสดาได้ ด้วยดำริว่า " พระสิตธัตถะกุมาร มีอายุยังอ่อน ไม่สมควรแก่ชุลีกรนมัสการ จึงจัดให้พระประยูรญาติราชกุมาร ที่พระชนมายุน้อยคราวน้อง คราวบุตร หลาน ออกไปนั่งอยู่ข้างหน้า เพื่อจะได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา ซึ่งเห็นว่าควรแก่วิสัย ส่วนพระประยูรญาติผู้ใหญ่พากันประทับ นั่งอยู่เบื้องหลังเหล่าพระราชกุมาร ไม่ประณมหัตถ์ ไม่นมัสการ หรือคารวะแต่ประการใด ด้วยมานะจิตคิดในใจว่าตนแก่กว่า ไม่ควรจะวันทาพระสิตธัตถะกุมาร "

เมื่อพระบรมศาสดาจารย์ได้ทรงประสบเหตุ ทรงพระประสงค์จะให้เกิดสลดจิต คิดสังเวชแก่พระประยูรญาติ ที่มีมานะจิตคิดมมังการ จึงทรงสำแดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศ ให้ปรากฏประหนึ่งว่าละอองธุลีบาทได้หล่นลงตรงเศียรเกล้า แห่งพระประยูรญาติทั้งหลาย ด้วยพุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์

ครานั้น พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช พระพุทธบิดา ได้ทรงเห็นปาฏิหาริย์เป็น มหัศจรรย์ จึงประณมหัตถ์ถวายนมัสการแล้วกราบทูลว่า " ข้าแต่พระผู้มีพระภาคแต่กาลก่อน เมื่อพระองค์ทรงประสูติใหม่ได้ ๑ วัน หม่อมฉันให้พระพี่เลี้ยงนำมาเพื่อนมัสการพระกาลเทวิลดาบส พระองค์ก็ทรงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏขึ้นไปอยู่บนชฎาพระกาลเทวิลอาจารย์ แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ได้ถวายนมัสการเป็นปฐม ต่อมางานพระราชพิธีนิยม ประกอบการวัปปมงคลแรกนาขวัญ พระพี่เลี้ยงนางนมได้นำพระองค์ประทับบรรทมใต้ร่มไม้หว้า ครั้นเวลาบ่าย เงาไม้ก็ไม่ได้ชายไปตามตะวัน เป็นปาฏิหาริย์ที่มหัศจรรย์ได้ปรากฏ แม้ครั้งนั้นหม่อมฉันก็ได้ประณตนมัสการเป็นคำรบสอง ควรแก่การสดุดี รวมเป็นสามครั้งกับครั้งนี้ ที่หม่อมฉันได้อัญชลีนมัสการ "

เมื่อสุดสิ้นพระราชบรรหารแห่งพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช บรรดาเหล่าพระประยูรญาติสิ้นทั้งหมด ก็พากันยอกรประณตอภิวาทพระบรมศาสดา ด้วยคารวะเป็นอันดี

ต่อนั้น พระมหามุนีบรมสุคตเจ้า ก็เสด็จลงจากอากาศ ประทับนั่งลงบนพระพุทธาอาสน์ในท่ามกลางพระบรมประยูรญาติสมาคม เป็นที่ชื่นชมโสมนัส สุดจะประมาณด้วยบุญญาภินิหารพระโลกนาถ ขณะนั้น มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในอากาศ บันดาลหยาดฝนโบกขรพรรษให้ตกลงในที่พระขัติยะประยูรวงศ์ประชุมกัน น้ำฝนโบกขรพรรษนั้น มีสีแดงหลั่งไหลเสียงสนั่นลั่นออกไปไกล เหมือนเสียงสายฝนธรรมดา ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกาย จึงจะเปียกกาย ถ้าไม่ปรารถนาแล้ว แม้แต่เม็ดหนึ่งก็มิได้เปียกตัว เหมือนหยาดน้ำตกลงในใบบัว แล้วก็กลิ้งตกลงไปมิได้ติดอยู่ให้เปียก ดังนั้น จึงได้นามขนานขานเรียกว่า "ฝนโบกขรพรรษ" เป็นมหัศจรรย์
ครั้งนั้น พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ชวนกันพิศวง ต่างองค์ก็สนทนาว่า มิได้เคยเห็นมาแต่ก่อนกาล พระองค์จึงมีพุทธบรรหารตรัสว่า "ฝนโบกขรพรรษนี้ มิใช่จะตกในที่ชุมนุมพระประยูรญาติในครั้งนี้เท่านั้น ก็หาไม่ ในอดีตสมัย เมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดร บรมโพธิสัตว์ ฝนโบกขรพรรษก็เคยได้ตกลงในที่ชุมนุมพระประยูรญาติเหมือนครั้งนี้" แล้วสมเด็จพระมหามุนีจึงได้ทรงพระแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ยอยกพระมหาบารมีทาน เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระประยูรญาติก็ถวายนมัสการทูลลากลับพระราชนิเวศน์หมดด้วยกัน ไม่มีใครเฉลียวจิตคิดถึงวันยามอรุณรุ่งพรุ่งนี้ ว่าสมเด็จพระชินศรีและพระสงฆ์จะทรงเสวยบิณฑบาตรที่ใด จึงไม่มีใครทูลอาราธนาให้เสด็จไปเสวยภัตตาหารในเคหะสถานของตน ๆ ในกบิลพัสดุ์บุรี.

ครั้นสิ้นสมัยราตรีรุ่งเช้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จด้วยพระขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นบริวาร ทรงบาตรดำเนินภิกษาจารตามท้องถนนในกบิลพัสดุ์นคร ขณะนั้น มหาชนที่สัญจรในถนน ตลอดไปถึงทุก ๆ คน ทุกบ้านช่อง ต่างก็จ้องดูด้วยความเลื่อมใสและประหลาดใจระคนกัน ว่าไฉนพระผู้เป็นเจ้าสิทธัตถะกุมารจึงนำพระสงฆ์เที่ยวภิกษาจารด้วยอาการเช่นนี้ แล้วก็โจษจันกันอึงทั่วพระนคร
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบก็ตกพระทัย รีบเสด็จลงจากพระราชนิเวศน์ เสด็จพระราชดำเนินไปหยุดยืนเฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดาแล้วทูลว่า "ไฉนพระองค์จึงทรงทำให้หม่อมฉันได้รับความอัปยศ โดยเที่ยวภิกษาจารเช่นนี้"

สมเด็จพระชินสีห์จึงตรัสตอบว่า "ดูกรพระราชสมภาร อันการเที่ยวบิณฑบาตนี้ เป็นจารีตประเพณีของตถาคต"

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อันบรรดากษัตริย์ขัตติยสมมติวงค์องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเที่ยวบิณฑบาตเช่นนี้ยังจะมีอยู่ ณ ที่ใด ประเพณีของหม่อมฉันไม่เคยมีแต่ครั้งไหนในก่อนกาล"

"ดูกรพระราชสมภาร นับแต่ตถาคตได้บรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว ก็สิ้นสุดสมมติขัตติวงศ์ เริ่มประดิษฐานพุทธวงศ์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ ดังนั้น การเที่ยวบิณฑบาตจึงเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า ตลอดพระภิกษุสงฆ์ที่สืบสายพุทธวงศ์ชั่วนิรันดร"

พระเจ้าสุทโธทนะบรรลุโสดาบัน
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว จึงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงรับบาตรของพระบรมศาสดา ทูลอาราธนาให้เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ทรงอังคาสด้วยอาหารบิณฑบาตอันประณีต

วันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาตใน พระราชนิเวศน์เป็นวันที่สอง ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีและพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระนางมหาปชาบดีได้บรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธบิดาได้บรรลุสกิทาคามีผล

0 comments:

Post a Comment

free counters