02 June 2009

ประวัติกรุงราชคฤห์

โปรดพระเจ้าพิมพิสารมหาราช
พระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ที่อุรุเวลาเสนานิคม โดยสำราญ พอสมควรแก่กาลแล้ว ทรงพระประสงค์จะประดิษฐานพระศาสนาให้มั่นคงที่พระนครราชคฤห์ และทรงพระประสงค์จะเปลื้องปฏิญญาที่ทรงประทานแก่พระเจ้าพิมพิสารไว้แต่แรก จึงชวนพระอริยสาวก ๑,๐๐๐ องค์ มีพระอุรุเวลากัสสปเป็นประธานเสด็จไปยังมคธรัฐ ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวัน ใกล้พระนครราชคฤห์
ครั้นนายอุทยานบาลได้เห็นพระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระขีนาสพ ๑,๐๐๐ เป็นบริวาร ก็มีใจชื่นบานเลื่อมใส รีบนำเรื่องเข้าไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบแล้ว ก็ทรงโสมนัสเสด็จออกจากพระนคร พร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดี ๑๒ หมื่นเป็นราชบริพาร เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังลัฏฐิวันสถาน ถวายความเคารพในพระรัตนตรัยด้วยพระราชศรัทธา

ส่วนพราหมณ์และคหบดีทั้งหลายนั้น มีอัธยาศัยแตกต่างกัน บางพวกถวายนมัสการแล้วก็นั่ง บางพวกก็กล่าวสัมโมทนียกถาถวายความยินดี ในการที่พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่พระนครราชคฤห์ บางพวกถวายความยินดีที่มีโอกาสมาเข้าเฝ้า ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกก็นั่งเฉยอยู่ บางพวกบางหมู่ก็ปริวิตกจิตคิดไปต่าง ๆ ว่า พระสมณะโคดมบวชในสำนักท่านอุรุเวลกัสสป หรือท่านอุรุเวลกัสสปบวชในสำนักพระสมณะโคดม หรือใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กัน


ลำดับนั้น พระบรมศาสดา ทรงทราบด้วยพระญาณ ทรงพระประสงค์จะบรรเทาทิฏฐิของราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร จึงทรงพระดำรัสแก่อุรุเวลกัสสปว่า "เธอเห็นโทษในการบูชาไฟอย่างไร จึงได้เลิกละการบูชาไฟเสีย"

พระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า การบูชายัญญ์ทั้งหลายมีความใคร่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นสิ่งที่พอใจ น่าปรารถนา เป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุแห่งความเร่าร้อนเพราะความไม่สมปรารถนาบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามอำนาจบ้าง ไม่เป็นทางให้สิ้นทุกข์โดยชอบ ข้าพระองค์จึงได้ละยัญญ์เหล่านั้นเสีย"
ครั้นพระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลดังนั้นแล้ว มีความประสงค์จะสำแดงตนให้พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายรู้ว่าตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกระทำจีวรเฉวียงบ่า ถวายบังคมพระบรมศาสดา กราบทูลด้วยเสียงอันดังด้วยอาการคารวะว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า" และกระทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศสูงประมาณ ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงมาถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยอาการนี้ถึง ๗ ครั้ง ยังความสงสัยของพราหมณ์และคหบดีเป็นราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารทั้ง หมดในที่นั้น ให้เสื่อมสิ้นไป พร้อมกับได้ความเลื่อมใสและความอัศจรรย์ในพระบรมศาสดา ตั้งใจสดับธรรมโดยคารวะ

ลำดับนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงแสดงจตุราริยสัจ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร ๑๑ หมื่น ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล อีก ๑ หมื่น ให้ได้ความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพระรัตนตรัย เป็นอุบาสกในพระศาสนา

เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวายความยินดีเลื่อมใสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นขัตติยราชกุมาร อยู่นั้น หม่อมฉันได้ตั้งความปรารถนาเป็นมโนปณิธานไว้ ๕ ข้อ คือ

๑. ขอให้ได้รับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติในราชอาณาจักรนี้

๒. ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมาสู่แคว้นของหม่อมฉัน

๓. ขอให้หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๔. ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงพระกรุณาประทานธรรมเทศนาแด่หม่อมฉัน และ

๕. ขอให้หม่อมฉันได้รู้ทั่วถึงในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทาน

บัดนี้ มโนปณิธานทั้ง ๕ ประการ ที่หม่อมฉันตั้งไว้นั้น ได้สำเร็จแล้วทุกประการ หม่อมฉันมีความโสมนัสเบิกบาน ในพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง หม่อมฉันขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า กับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งปวงจงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้ พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณีย์ ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระบรมศาสดา ทรงรับอาราธนาแล้ว ก็ถวายอภิวาททูลลา พาราชบริพารเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร

ครั้นวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ๑,๐๐๐ เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังพระนครราชคฤห์ เสด็จสู่พระราชนิเวศน์ ขึ้นประทับยังพระบวรพุทธาอาสน์ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช พร้อมด้วยราชบริพารทรงถวายมหาทาน อังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระหัตถ์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสร็จการเสวยแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ลัฏฐิวัน ที่ทรงประทับอยู่นั้นเล็ก ทั้งไกลจากชุมนุมชนเกินพอดี ไม่สะดวกแก่ผู้มีศรัทธา มีกิจจะพึงไป หม่อมฉันขอถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม ด้วยเป็นสถานที่กว้างใหญ่ มีเสนาสนะเรียบร้อย ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไกลจากชุมนุมชน เงียบสงัด ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน ผู้มีกิจจะพึงไปถึงได้ไม่ลำบาก สมเป็นพุทธาธิวาสอันพระองค์จะทรงประทับ" กราบทูลแล้ว ก็ทรงจับพระเต้าทองหลั่งน้ำทักษิโณทก ให้ตกลงที่พระหัตถ์พระบรมศาสดา ถวายพระราชอุทยาน เวฬุวันเป็นสังฆาราม เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา
พระบรมศาสดาทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆารามแล้ว ทรงอนุโมทนา พาพระสงฆ์สาวกเสด็จกลับประทับยังพระเวฬุวันวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระศาสนาอันมโหฬารทั้งงามตระการและมั่นคง ควรแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งมาแต่จตุรทิศจะพึงเข้าพำนักอยู่อาศัย เป็นความ สะดวกสบายแก่สมณะเพศ ที่โลกยกย่องว่าเป็นบุญญเขตควรแก่การบูชา มหาชนมีรัศมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หลั่งไหลกันมาสดับธรรมเทศนาเป็นอันมากเป็นอันว่า พระบรมศาสดาได้เริ่มประดิษฐานพระศาสนา เป็นหลักฐานลงที่พระเวฬุวันวิหาร ณ พระนครราชคฤห์ เกียรติศักดิ์เกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนา ได้เริ่มแพร่ไป ในประชุมชนตามตำบลน้อยใหญ่เป็นลำดับ

0 comments:

Post a Comment

free counters