08 June 2009

โปรดพระนางพิมพาเทวีและพระนันทกุมาร


ความซื่อสัตย์ของพระนางพิมพา
วันรุ่งขึ้นอีก พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาต ในพระราชนิเวศน์เป็นวันที่สาม ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสเทศนามหาธรรมปาลชาดกโปรดพระพุทธบิดา ให้สำเร็จพระอนาคามีผล.

พระเจ้าสุทโธนะกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระนางพิมพาเทวี เป็นชนปทกัลยาณี มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ สุดจะหาสตรีที่ใดเสมอได้ นับแต่พระองค์เสด็จจากพระนครไป สิ่งอันใดที่ก่อให้เกิดราคี เสื่อมศรีเสียเกียรติยศแล้ว พระนางจะห่างไกลไม่กระทำ เฝ้าแต่รำพันถึงคุณสมบัติของพระองค์ แล้วก็โศกเศร้าอาดูร มิได้ใส่ใจถ่อยคำของผู้ใดจะช่วยแนะนำให้บรรเทาความเศร้าโศก ไม่สนใจในการตกแต่งกายทุกอย่าง เลิกเครื่องสำอางค์ทุกชนิด เมื่อได้ทราบว่าพระองค์ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ พระนางก็จัดหาผ้ากาสาวพัสตร์มาใช้ตามพระองค์ตลอดจนทุกวันนี้ ได้ทราบข่าวว่าพระองค์อดพระกระยาหาร ทรมานกาย พระนางก็พอใจอดพระกระยาหารตามเสด็จตลอดเวลา จะหาสตรีที่มีความจงรักภักดีเช่นนี้ เห็นสุดหา"

"อนึ่ง นับแต่พระองค์เสด็จมาสู่พระราชนิเวศน์เข้า ๓ วันนี้ พระนางพิมพาก็มิได้มาเฝ้า เศร้าโศกอยู่แต่ในห้องผทม ตั้งใจอยู่ว่าพระองค์คงจะเสด็จเข้าไปหายังห้องที่เคยเสด็จประทับในกาลก่อน หากพระองค์จะไม่เสด็จไปยังห้องของพระนางแล้ว พระนางคงจะเสียพระทัยถึงแก่วายชีวิตเป็นแน่แท้ หม่อมฉันขออาราธนาพระองค์เสด็จไปโปรดพระนางพิมพาเทวี ขอให้ทรงพระกรุณาประทานชีวิตแก่พระนางผู้มีความจงรักภักดีในครั้งนี้ด้วยเถิด"

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "ดูกรพระราชสมภาร อันพระนางพิมพาเทวีมารดาราหุลกุมาร มีความจงรักภักดีต่อตถาคต สมจริงดังพระองค์รับสั่งทุกประการ และก็สมควรที่ตถาคตจะไปอนุเคราะห์พระนางให้สมมโนรถ เพื่อบรรเทาความเศร้าโศก ให้ได้รับความสดชื่น สุขใจ ในอมตธรรมตามควรแก่วาสนา ด้วยพระนางมีคุณแก่ตถาคตมามากยิ่งนัก ในอดีตกาล ได้ช่วยตถาคตบำเพ็ญมหาทานบารมีมากกว่าแสนชาติ " ครั้นแล้วก็รับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายรออยู่ที่ปราสาทราชนิเวศน์ ให้ตามเสด็จแต่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ อัครสาวก ๒ องค์ เป็นปัจฉาสมณะ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปยังปราสาทของพระนางพิมพาเทวี พลางมีพระวาจารับสั่งแก่อัครสาวกว่า “ พระมารดาราหุลนี้ มีคุณแก่ตถาคตเป็นอันมาก ผิว่านางจะจับบาทตถาคตลูบคลำสัมผัส และโศกเศร้าอาดูรพิลาปร่ำไห้ ด้วยกำลังเสน่หา ท่านทั้งสองอย่าได้ห้ามปราม ปล่อยตามอัธยาศัย ให้พระนางพิไรรำพันปริเวทนาจนกว่าจะสิ้นโศก ผิว่าไปห้ามเข้า นางก็ยิ่งเพิ่มความเศร้าเสียพระทัยถึงชีวิต ไม่ทันได้สดับพระธรรมเทศนา ตถาคตยังเป็นหนี้พิมพามิได้เปลื้องปลด จะได้แทนทดใช้หนี้แก่พิมพาในกาลบัดนี้” ครั้นตรัสบอกอัครสาวกทั้งสองแล้ว ก็เสด็จพระพุทธลีลาเข้าไปในห้องแห่งประสาท ขึ้นสถิตบนรัตนบัลลังก์อาสน์อันงามวิจิตร

ฝ่ายนางสนมทั้งหลาย ครั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่บนปราสาท จึงรีบไปทูลความแด่พระนางพิมพาว่า "บัดนี้ พระสิทธัตถะราชสวามีของพระนางเจ้า ได้เสด็จมาประทับยังห้องแห่งปราสาทของพระนางแล้ว"

เมื่อพระนางพิมพาเทวีทรงสดับ ก็ลุกจากที่ประทับ จูงหัตถ์พระราหุล ราชโอรสกลั้นความกำสรดโศก แล้วก็เสด็จคลานออกจากพระทวารสถานที่สิริไสยาสน์ ตรงเข้ากอดบาทพระบรมศาสดา แล้วซบพระเศียรลงถวายนมัสการ พลางทรงพิลาปกราบทูลสารว่า "โทษกระหม่อมฉันนี้มีมาก เพราะเป็นหญิงกาลกิณี พระองค์จึงเสด็จหนีให้อาดูรด้วยเสน่หา แต่เวลายังดรุณภาพ พระองค์มิได้ตรัสบอกให้ทราบ แสร้งทรงสละข้าพระบาทไว้ไม่มีอาลัย ดุจก้อนเขฬะบนปลายพระชิวหา อันถ่มออกจากพระโอฐมิได้โปรดปราน เสด็จบำราศร้างจากนิวาสน์สถานไปบรรชา ถึงมาตรว่า ข้าพระบาทพิมพานี้มีโทษแล้ว ส่วนลูกแก้วราหุลราชกุมาร เพิ่งประสูติจากพระครรภ์ในวันนั้น ยังมิทันได้รู้ผิดชอบประการใด นั้นมีโทษสิ่งไรด้วยเล่า พระผ่านเกล้าจึงแกล้งทอดทิ้งไว้ให้ร้างพระปิตุรงค์"

"ประการหนึ่ง ข้าพระบาทของพระองค์นี้ โหราจารย์ญาณเมธีได้ทำนายไว้แต่ยังเยาว์วัยว่า ยโสธราพิมพาราชกุมารี มีบุญญาธิการใหญ่ยิ่ง ควรเป็นมิ่งมเหษีอดุลกษัตริย์จักรพรรดิราช คำทำนายนั้นก็เคลื่อนคลาดเพี้ยนผิด พิมพากลับวิปริตเป็นหญิงหม้ายชายร้างสิ้นราคา" เมื่อพระนางพิมพาเทวีปริเวทนามาฉะนี้ แล้วก็กลิ้งเกลือกพระอุตมางคโมลีเหนือหลังพระบาทพระศาสดา ดูเป็นที่เวทนา

ส่วนสมเด็จพระพุทธบิดา ก็ได้กราบทูลพรรณนาถึงความดีของพระนางพิมพาเทวีศรีสะไภ้ว่า "จะหาสตรีคนใดเสมอได้ยากยิ่ง มีความจงรักภักดีต่อพระองค์จริงประจักษ์ตา ทราบว่าพระองค์ผทมเหนือพื้นพสุธา พระนางก็ประพฤติตามเสด็จ โดยผทมยังภาคพื้นเมธนีดล ครั้นทราบว่า พระองค์เว้นเครื่องสุคนธ์ลูบไล้ ตลอดดอกไม้บุบผชาติ พระนางก็เว้นขาดจากเครื่องประดับทุกประการ ทั้งเครื่องลูบไล้สุมามาลย์ก็เลิกหมด เฝ้าแต่รันทดถึงพระองค์อยู่ไม่ขาด แม้บรรดาพระประยูรญาติของพระนาง ในเทวหะนคร ส่งข่าวสารมาทูลวอนว่า จะรับกลับไปบำรุงเลี้ยงรักษาปฎิบัติ พระนางก็บอกปัด มิได้เล็งแลดูหมู่กษัตริย์ศากยะวงศ์พระองค์ใด ตั้งพระทัยภักดีมีสัตย์ซื่อเสน่หาเฉพาะพระองค์ดำรงมา ดังพรรณนามาฉะนี้ "

เมื่อพระชินสีห์ได้ทรงเสวนาการ จึงมีพระพุทธบรรหารดำรัสว่า "ดูกรบรมบพิตร พระนางพิมพาเทวี จะได้มีจิตจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อสามีแต่ในชาตินี้เท่านั้น ก็หาไม่ พระมารดาราหุลนี้นั้น น้ำใจเป็นหนึ่งแน่ไม่แปรผันในสวามีแม้ในอดีตกาล ครั้งเสวยชาติเป็นเดรัจฉานกินนรี ก็มีจิตจงรักภักดีเลิศคุณดิลก" แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงจันทกินนรชาดกโดยพิสดาร บันเทาความโศกเศร้าปริเวทนาการของพระนางพิมพาให้เสื่อมหายคลายกำสรด เสมือนหนึ่งหลั่งน้ำอมตรสลงตรงดวงจิตของพระนาง ซึ่งเร่าร้อนด้วยเพลิงพิษคือกิเลสให้พลันดับ กลับให้ความสดชื่นเกษมสานต์

ส่วนพระนางพิมพาราชกัญญา ครั้นสร่างโศกสิ้นทุกข์ มีใจผ่องแผ่ว เบิกบานตั้งพระทัยสดับพระธรรมที่พระศาสดาทรงพระกรุณาประทานสืบไป ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาทพระศาสดา ด้วยความทราบซึ้งในพระมหากรุณา ที่ทรงอุตสาห์เสด็จมาประทานชีวิตให้สดชื่นรื่นรมย์ ทั้งประทานอมตธรรมให้ชื่นชม สมกับที่พระนางได้จงรักภักดีตั้งแต่ต้นมา แล้วสมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จพระพุทธลีลา พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๒ หมื่น เสด็จคืนสู่พระนิโครธมหาวิหาร

โปรดพระนันทกุมาร (พระอนุชา)

วันที่ ๔ พระบรมศาสดาเสด็จไปรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของพระนันทราชกุมารผู้เป็นพุทธอนุชา ซึงประสูติแต่พระนางมหาปชาบดี โคตมี ในงานวิวาหมงคลของนันทกุมารเอง ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ก็ประทานบาตรให้นันทกุมารถือไว้ มีพระดำรัสตรัสมงคลคาถาแก่สมาคม เสร็จแล้วก็เสด็จลุกจากอาสน์ ลงจากนิเวศน์ แต่มิได้ทรงรับบาตรจากนันทกุมาร แม้นันทกุมารก็ไม่กล้าทูลเตือนใหทรงรับบาตรคืนไป คงทรงดำเนินตามเสด็จลงมา ด้วยดำริอยู่ว่า เมื่อเสด็จถึงพื้นล่างแล้ว คงทรงรับไป ครั้นพระศาสดาไม่ทรงรับคืนไป ก็ดำริอีกว่า ถึงหน้าพระลานคงจะทรงรับ หรือไม่ก็ถึงพระทวารวัง ก็คงจะทรงรับไป ครั้นสองแห่งไม่ทรงรับ นันทกุมารก็ต้องจำใจถือตามเสด็จต่อไปอีก ไม่อาจทูลเตือนได้ แล้วก็ดำริต่อไปใหม่ตามทางเสด็จว่า เมื่อถึงตรงนั้น ๆ แล้ว คงจะทรงรับบาตรคืนไป

ฝ่ายนางชนปทกัลยาณี ผู้เป็นเทวีคู่อภิเษก ได้ทราบจากนางสนมว่า พระชินสีห์พานันทกุมารไปเสียแล้ว ก็ตกพระทัย ทรงกรรแสง รีบแล่นตามมาโดยเร็ว แล้วร้องทูลว่า "ข้าแต่นันทะพระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบทรงเสด็จกลับมาโดยด่วน" นันทกุมารได้สดับเสียงก็สดุ้งด้วยความอาลัย ใคร่จะกลับ แต่กลับไม่ได้ ด้วยเกรงพระทัยพระบรมศาสดา ต้องฝืนใจอุ้มบาตรตามพระบรมศาสดาไปจนถึงนิโครธมหาวิหาร

ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงพระคันธกุฎีแล้วก็ทรงรับสั่งว่า "นันทกุมาร จงบรรพชาเสียเถิด" นันทกุมารไม่อาจทูลขัดพระพุทธบัญชาได้ ด้วยความเคารพยิ่ง ก็จำใจทูลว่า "จะบวช" แล้วก็ทรงโปรดประทานอุปสมบทให้นันทกุมารในวันนั้น.
ครั้นวันที่ ๗ พระนางพิมพาเทวีประดับองค์ราหุลกุมารด้วยอาภรณ์อันวิจิตร ให้ราชบุรุษพาเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อทูลขอขุมทอง ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติอันราหุลกุมาร เป็นทายาทควรจะได้รับเป็นสมบัติสืบสันตติวงค์ พระศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปพระวิหาร แล้วโปรดให้พระสารีบุตรจัดการบรรพชาราหุลกุมารเป็นสามเณร

พระเจ้าสุทโธทนะขอพระพุทธานุญาต
พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ ก็โทมนัสเสียพระทัย ด้วยเดิมนั้นทรงประสงค์จะให้นันทกุมาร พระโอรสองค์ที่ ๒ สืบราชสมบัติ พระบรมศาสดาก็ทรงพาไปอุปสมบทเสีย ท้าวเธอก็ทรงหวังว่า จะให้ราหุลกุมารซึ่งเป็นทายาท สืบราชสมบัติต่อไป ซึ่งเป็นความหวังครั้งสุดท้าย แต่แล้วพระบรมศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปให้บรรพชาเสียอีก จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระวิหาร แล้วทูลขอประทานพระพุทธานุญาตว่า

"แต่นี้ต่อไปเมื่อหน้า กุลบุตรผู้ใดแม้ประสงค์จะบวช หากมารดาบิดาไม่ยอมพร้อมใจอนุญาตให้บวชแล้ว ขอให้ทรงงดไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้นั้น" พระบรมศาสดาก็ทรงประทานแก่พระพุทธบิดา แล้วถวายพระพรอำลา พาพระนันทและลาหุลสามเณร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริษัท เสด็จนิวัตตนาการกลับกรุงราคฤห์มหานคร.

ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐี ผู้อยู่ในเมืองสาวัตถี มาที่พระนครราชคฤห์ด้วยธุระกิจอย่างหนึ่ง พักอยู่ที่นิเวศน์ของท่านราคฤห์เศรษฐี ผู้เป็นน้องชายแห่งภริยาของท่าน ได้ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุโสดาปัตติผล แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาให้เสด็จ ประกาศพระพุทธศาสนายังนครสาวัตถี พร้อมกับกราบทูลว่า จะจัดสร้างพระวิหารถวายให้เป็นสังฆาราม ครั้นพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว ท่านอนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐีก็รีบล่วงหน้าไป บริจาคทรัพย์ซื้อที่ดิน อันเป็นอุทยานของพระราชกุมาร พระนามว่า "เชต" โดยวิธีให้คนขนเอาเงินมาลาดลงให้เต็มบนพื้นที่นั้นตามสัญญา สิ้นเงิน ๒๗ โกฏิ ทั้งพระราชกุมารเจ้าของที่ให้สัญญาขอให้จาลึกพระนามของพระองค์ว่า “ เชตวัน ” ติดไว้ที่ซุ้มประตูพระอาราม ซึ่งเป็นส่วนของพระองค์สร้างอีกด้วย

ท่านมหาเศรษฐีได้บริจาคทรัพย์สร้างพระคันธกุฎีและเสนาสนะอันควร แก่ สมณะวิสัย พร้อมหมดทุกอย่างด้วยอำนาจเงินอีก ๒๗ โกฎิ เมื่อพระเชตวันวิหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทูลอัญเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมาจำพรรษา สมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จมาสถิตยังพระมหาวิหารเชตวัน ในความอุปถัมภ์บำรุงของพุทธบริษัท มีท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี เป็นประมุข พระศาสดาและพระสงฆ์ ได้รับความสุขตามควรแก่วิสัย ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัททั้งหลายให้เลื่อมใส มั่นอยู่ในคุณพระรัตนตรัยเป็นอันมาก.

ครั้งนั้น พระนันทะ พุทธอนุชา เกิดความกระสันต์เป็นทุกข์ใจ ด้วยไม่มีความเลื่อมใสในการบรรชา ครั้นพระบรมศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้มาเฝ้าแล้วตรัสถาม พระนันทะทูลความว่า ตนมีจิตกำหนัดคำนึงถึงนางชนปทกัลยาณ

ลำดับนั้น พระชินสีห์จึงทรงจูงกรของพระอนุชา สำแดงอิทธานุภาพ พาพระนันทะขึ้นไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก บันดาลให้เห็นแม่วานรตัวหนึ่งในระหว่างทาง แล้วทรงพาขึ้นไปบันดาลให้เห็นนางเทพอัปสรกัญญา ซึ่งมีกายงามวิจิตรเจริญตา กำลังดำเนินขึ้นไปเฝ้าท้าวสหัสสนัยยังเทพวิมาน จึงตรัสถามว่า "นันทะ นางชนปทกัลยาณีที่เธอมีใจรัญจวนถึงนั้น กับนางอัปสรเหล่านี้ นางไหนจะงามกว่ากัน"

พระนันทะกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค จะเอานางชนปทกัลยาณี มาเปรียบกับนางฟ้านั้นผิดกันไกล นางชนปทกัลยาณีหากจะเปรียบเทียบก็ได้เท่ากับแม่วานรในระหว่างทางเท่านั้น "

"นันทะ ผิว่าเธอยินดีรักใคร่นางฟ้าทั้งหลายนี้ ตถาคตรับรองจะช่วยให้ได้นางฟ้าสำเร็จตามความปรารถนาของเธอ"

"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม ถ้าพระองค์จะทรงพระกรุณาช่วยให้ข้าพระองค์ได้นางฟ้านี้สมความปรารถนาแล้วไซร้ ข้าพระองค์ยินดีจะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ไม่รัญจวนจิตคิดออกไป"

พระบรมศาสดาตรัสว่า "นันทะ ตถาคตรับรอง" แล้วก็ทรงพาพระนันทะอันตรธารจากเทวโลก มาปรากฎ ณ พระเชตวัน

ครั้งนั้น บรรดาภิกษุที่เป็นเพื่อนพระนันทะทราบเหตุ ต่างก็พากันพูดเคาะพระนันทะว่า "ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนางฟ้า โดยมีพระบรมศาสดาเป็นผู้รับรองจะสงเคราะห์ให ้" พระนันทะคิดละอายใจ จึงหลีกออกไปอยู่ในที่สงัด บำเพ็ญสมณธรรมแต่ผู้เดียว ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล.

๖ กษัตริย์จากศากยสกุล ออกผนวช
วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังมหาชนบท ประทับอยู่ที่อนุปิยะอัมพวันใกล้บ้านอนุปิยะมลานิคม แขวงเมืองพาราณสี ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะ ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา เข้าไปหาพระอนุรุทธะ ผู้เป็นอนุชา ทรงปรารถว่า "ในตระกูลเรา ยังไม่มีใครออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย ฉะนั้น ในเราสองคน คือ อนุรุทธะกับพี่ จะต้องออกบวชคนหนึ่ง พี่จะให้อนุรุทธะเลือกเอา อนุรุทธะจะบวชหรือจะให้พี่บวช"

เนื่องจากพระอนุรุทธะ เป็นพระโอรสพระองค์เล็ก ของพระเจ้าอมิโตทนะ พระมารดารักมาก ทั้งเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีบุญมาก ได้รับความรักใคร่เมตตาปราณีจากพระญาติทั้งหลายเป็นอันมาก ดังนั้น อนุรุทธะกุมารจึงทูลว่า "หม่อมฉันบวชไม่ได้ดอก ขอให้เจ้าพี่บวชเถอะ"

พระมหานามะจึงรับสั่งว่า "ถ้าอนุรุทธจะอยู่ ก็ต้องศึกษาเรื่องการครองเรือน เรื่องบำรุงวงศ์ตระกูลให้จงดี" และพระมหานามะ ก็ถวายคำแนะนำการครองชีพด้วยกสิกรรม ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ อนุรุทธะกุมารก็ฟังแล้วทรงระอาในการงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อกันไปไม่รู้สิ้น จึงรับสั่งว่า "ถ้าเช่นนั้น ให้เจ้าพี่อยู่เถอะ หม่อมฉันจะบวชเอง รำคาญที่จะต้องไปวุ่นอยู่กับงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อไม่รู้สิ้น" รับสั่งแล้วก็ลาพระมารดาขออนุญาตบรรพชาตามพระบรมศาสดา พระมารดาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง ภายหลังทรงอนุญาตเป็นนัยว่า "ถ้าพระภัททิยะราชกุมาร ผู้เป็นโอรสของพระนางกาฬีโคธาศากยะวงศ์ ผู้เป็นเพื่อนเล่นที่สนิทสนมของพ่อจะออกบรรพชา พ่อจะบรรพชาด้วยก็ตามเถิด" พระอนุรุทธะก็ไปชวนพระภัททิยะ ให้ออกบวชด้วยกัน แต่วิงวอนชวนอยู่ถึง ๗ วัน พระภัททิยะจึงยินยอมปฎิญญาว่าจะบวชด้วย

ในกาลนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ คือ พระภัททิยะ ๑ พระอนุรุทธะ ๑ พระอานนท์ ๑ พระภัคคุ ๑ พระกิมพิละ ๑ พระเทวทัต ๑ ได้พร้อมใจกันจะออกบรรพชา ชวน อุบาลี อำมาตย์ ช่างกัลบก(๑) เป็น ๗ ด้วยกัน เดินทางไปสู่มลรัฐชนบทเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยะอัมพวัน ถวายอภิวาทแล้ว ขอประทานบรรพชาอุปสมบท

อนึ่ง ก่อนแต่พระบรมศาสดาจะทรงประทานบรรพชา พระอนุรุทธะได้กราบทูลว่า "ข้าแต่ผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เป็นกษัตริย์ สูงด้วยขัตติยะมานะอันกล้า ขอให้พระองค์ประทานบรรพชาแก่อุบาลี อำมาตย์ ผู้รับใช้สอยติดตาม ของมวลข้าพระองค์ก่อน ให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรพชาต่อภายหลัง จะได้คารวะ ไหว้นบ เคารพนับถืออุบาลี ผู้บวชแล้วก่อน บรรเทาขัตติยะมานะให้บางเบาจากสันดาน"

พระบรมศาสดาจึงได้ประทานอุปสมบทแก่อุบาลี กัลบกก่อน แล้วจึงประทานอุปสมบทแก่ ๖ กษัตริย์ในภายหลัง พระภัททิยะ นั้น ได้สำเร็จไตรวิชา พระอรหัตตผลในพรรษานั้น พระอนุรุทธะ ได้บรรลุทิพจักษุญาณก่อน ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนา มหาปุริสวิตักสูตร จึงสำเร็จพระอรหัตตผล พระอานนท์ นั้น ได้บรรลุอริยะผลเพียงพระโสดาบัน พระภัคคุ และ พระกิมพิละ เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุพระอรหัตตผล ส่วนพระเทวทัตนั้น ได้บรรลุปุถุชนฤทธิ์ อันเป็นของโลกิยะบุคคล

0 comments:

Post a Comment

free counters