22 May 2009

“พระพุทธศาสนาในประเทศไทย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์”


พระพุทธศาสนาในประเทศไทย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จำแนกตามลำดับรัชกาลได้ดังนี้

รัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2325 – 2352)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2325 ต่อจากพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงย้ายเมืองจากธนบุรี มาตั้งราชธานีใหม่ เรียกชื่อว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ เช่น การสร้าง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดสระเกศ และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 9 และถือเป็นครั้งที่ 2 ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน ณ วัดมหาธาตุ ได้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านเรือนของข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย ทรงจัดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสถาปนาพระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2352

รัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2352 – 2367

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2352 เป็นทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ ในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชถึง 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระสังฆราช (มี), สมเด็จพระสังฆราช (สุก), และสมเด็จพระสังฆราช (สอน)

ในปี พ.ศ. 2357 ทรงจัดส่งสมณทูต 8 รูป ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศลังกา ได้จัดให้มีการจัดงานวันวิสาขบูชาขึ้น เป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2360 ซึ่งแต่เดิมก็เคยปฏิบัติถือกันมาเมื่อครั้งกรุงสุโขทัย แต่ได้ขาดตอนไปตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า จึงได้มีการฟื้นฟูวันวิสาขบูชาใหม่ ได้โปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการสอบไล่ปริยัติธรรมขึ้นใหม่ ได้ขยายหลักสูตร 3 ชั้น คือ เปรียญตรี -โท – เอก เป็น 9 ชั้น คือ ชั้นประโยค 1 – 9

รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367 – 2354)

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเพิ่มจำนวนขึ้นไว้อีกหลายฉบับครบถ้วน กว่ารัชกาลก่อน ๆ โปรดให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง และสร้างวัดใหม่ คือ วัดเทพธิดาราม วัดราชราชนัดดา และวัดเฉลิมพระเกียรติ ได้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสอนหนังสือไทยแก่เด็กในสมัยนี้ได้เกิดนิกายธรรมยุติขึ้น โดยพระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ) ขณะที่ผนวชอยู่ได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2372 ได้ตั้งคณะธรรมยุติขึ้นในปี พ.ศ. 2376 แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติ

รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 -2411)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎได้ผนวช 27 พรรษาแล้วได้ลาสิกขาขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 57 พรรษา ใน พ.ศ. 2239 ด้านการพระศาสนา ทรงพระราชศรัทธาสร้างวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่น วัดปทุมวนาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และวัดราชบพิตร เป็นต้น ตลอดจนบูรณะวัดต่าง ๆ อีกมาก โปรดให้มีพระราชพิธี “มาฆบูชา” ขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2394 ณ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนได้ถือปฏิบัติสืบมาจนถึงทุกวันนี้

รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – 2453)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2411 ทรงยกเลิกระบบทาสในเมืองไทยได้สำเร็จ ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น คือ วัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางนิมิตร วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ทรงบูรณะวัดมหาธาตุ และวัดอื่น ๆ อีก ทรงนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาจำนวนมาก โปรดให้มีการเริ่มต้นการศึกษาแบบสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยให้พระสงฆ์รับภาระช่วยการศึกษาของชาติ

* พ.ศ. 2427 ได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก ณ วัดมหรรณพาราม
* พ.ศ. 2414 โปรดให้จัดการศึกษาแก่ประชาชนในหัวเมือง โดยจัดตั้งโรงเรียนในหัวเมืองขึ้น
* พ.ศ. 2435 มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกรมธรรมการเป็นกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) โปรดให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย จบละ 39 เล่ม จำนวน 1,000 จบ
* พ.ศ. 2432 โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาเป็นบาลีวิทยาลัย ชื่อมหาธาตุวิทยาลัย ที่วัดมหาธาตุ
* พ.ศ. 2439 ได้ประกาศเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร
* พ.ศ. 2436 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดตั้ง “มหามกุฏราชวิทยาลัย” ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุตินิกาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเปิดในปีเดียวกัน

รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453 -2468)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระศาสนามาก ทรงนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ถึงกับทรงอบรมสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วยพระองค์เอง ทรงโปรดให้ใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) แทน ร.ศ. เมื่อ พ.ศ. 2456 ให้เปลี่ยนกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ

* พ.ศ. 2454 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนวิธีการสอบบาลีสนามหลวงจากปากเปล่ามาเป็นข้อเขียน เป็นครั้งแรก
* พ.ศ. 2469 ทรงเริ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมใหม่ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เรียกว่า “นักธรรม” โดยมีการสอบครั้งแรกเมื่อ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2454 ตอนแรกเรียกว่า “องค์ของสามเณรรู้ธรรม”
* พ.ศ. 2462 ถึง พ.ศ. 2463 โปรดให้พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกและอรรถกถาชาดก และคัมภีร์อื่นๆ เช่น วิสุทธิมรรค คัมภีร์มิลินทปัญหา เป็นต้น

รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 – 2477)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2468 – 2473 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นการสังคายนาครั้งที่ 3 ในเมืองไทย แล้วทรงจัดให้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ชุดละ 45 เล่ม จำนวน 1,500 ชุด และพระราชทานแก่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 500 ชุด โปรดให้ย้ายกรมธรรมการกลับเข้ามารวมกับกระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการอย่างเดิม โดยมีพระราชดำริว่า “การศึกษาไม่ควรแยกออกจากวัด” ต่อมาปี พ.ศ. 2471 กระทรวงธรรมการประกาศเพิ่มหลักสูตรทางจริยศึกษาสำหรับนักเรียน ได้เปิดให้ฆราวาสเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม โดยจัดหลักสูตรใหม่ เรียกว่า “ธรรมศึกษา” ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ของไทย เมื่อคณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2477 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8

รัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2477 – 2489)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8 ในขณะพระพระชนมายุ เพียง 9 พรรษาเท่านั้น และยังกำลังทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในด้านการศาสนาได้มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. พระไตรปิฎก แปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุด 80 เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ และได้ทำต่อจนเสร็จเมื่องานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ. 2500
2. พระไตรปิฎก แปลโดยสำนวนเทศนา พิมพ์ใบลาน แบ่งเป็น 1250 กัณฑ์ เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับหลวง เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2492

* พ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ และกรมธรรมการเปลี่ยนเป็น กรมการศาสนา และในปีเดียวกัน รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีความสอดคล้องเหมาะสมกับการปกครองแบบใหม่
* พ.ศ. 2488 มหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2436 ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ชื่อ “สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม
* พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ถูกลอบปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ 9 รัชกาลปัจจุบัน

สมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2489 – ปัจจุบัน)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 9 สืบต่อมา ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงเป็นศาสนูปถัมภก ทรงให้การอุปถัมภ์แก่ทุกศาสนา และทรงปกครองบ้านเมืองโดยสงบร่มเย็น ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบันได้มีการส่งเสริมพุทธศาสนาด้านต่าง ๆ มากมาย

ในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 2,500 ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน วันที่ 12-18 พฤษภาคม 2500 รัฐบาลได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งอินเดียและลังกาเรียกว่า “พุทธชยันตี” โดยกำหนดให้วันที่ 12-14 พฤษภาคมเป็นวันหยุดราชการ ศาลาพิธีตั้งอยู่กลางท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงาน มีผู้แทนจาก 13 ประเทศเข้าร่วม พระสงฆ์ 2,500 รูป เจริญพระพุทธมนต์พร้อมกันดังกังวานก้องไปทั่วทุกทิศ และมีการเชิญชวนพุทธศาสนิกชนรักษาศีลห้าหรือศีลแปด ตลอด 7 วัน 7 คืน

ในปี พ.ศ. 2500 นี้ รัฐบาลได้กำหนดพิธีเฉลิมฉลองทั่วประเทศ มีการจัดสร้างพุทธมณฑล ขึ้น ณ ที่ดิน 2,500 ไร่ ระหว่างกรุงเทพ-นครปฐม แล้วสร้างพระมหาพุทธปฏิมาปางประทับยืนลีลาสูง 2500 นิ้ว ภาย ในบริเวณรอบองค์พระมีภาพจำลองพระพุทธประวัติ และมีพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา ได้ปลูกต้นไม้ที่มีชื่อในพระพุทธศาสนา เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร เป็นต้น สร้างพระพิมพ์ปางลีลาเป็นเนื้อชินและเนื้อผงจำนวน 4,842,500 องค์ พิมพ์พระไตรปิฎกแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยออกเผยแพร่ และบูรณะปูชนียสถานวัด วาอารามทั่วพระราชอาณาจักร อุปสมบทพระภิกษุจำนวน 2,500 รูป และนิรโทษกรรมแก่นักโทษ ประกวด วรรณกรรม ศิลปะทางพระพุทธศาสนา โดยเชิญผู้แทนพุทธศาสนิกชนทั่วโลกมาร่วมอนุโมทนา

ในปัจจุบันนี้มีประชากรไทยนับถือพุทธศาสนามากกว่าร้อยละ 94 และมีพุทธศาสนิกชนมากเป็นอันดับ 4 ของโลก (รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ตามลำดับ)

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

0 comments:

Post a Comment

free counters