26 May 2009

พระพุทธประวัติ (๔) ตรัสรู้

ทรงเปรียบอุปมา ๓ ข้อ
อนึ่ง การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยา เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิตนั้น โดยทรงดำริเปรียบเทียบอุปมา ๓ ข้อ ซึ่งพระองค์ไม่เคยสดับ ไม่เคยดำริมาก่อนเลย ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่า

สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งมีกายไม่ได้หลีกออกจากกาม และมีความพอใจรักใคร่ในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน ที่เกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง บุคคลแช่ไว้ในน้ำ บุรุษมีความต้องการด้วยไฟ ถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้า ด้วยหวังจะให้เกิดไฟ บุรุษนั้นก็ไม่อาจให้ไฟเกิดขึ้นได้ ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นยังสดมียางอยู่ ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ

อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความรักใคร่พอใจในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง แม้ห่างไกลจากน้ำ บุคคลตั้งไว้บนบก บุรุษก็ไม่อาจสีให้เกิดไฟได้ ถ้าสีเข้า ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นแม้ตั้งอยู่บนบกแล้ว แต่ยังเป็นของสดชุ่มด้วยยาง

อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจากกามแล้ว และละความใคร่ในกาม ให้สงบระงับดีแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี แม้ไม่ได้เสวยเลยก็ดี ก็ควรจะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้งที่ไกลจากน้ำ บุคคลวางไว้บนบก บุรุษอาจสีให้เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นของแห้ง ทั้งตั้งอยู่บนบก

อุปมาทั้ง ๓ ข้อนี้ ได้เป็นกำลังสนับสนุนพระหฤทัยให้พระมหาบุรุษทรงมั่นหมายในการทำความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางให้พระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยแน่แท้

ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ภิกษุ ผู้มีความนิยมในทุกกรกิริยา พากันเฝ้าบำรุงพระมหาบุรุษอยู่ เมื่อเห็นพระมหาบุรุษทำความเพียรในทุกกรกิริยาอย่างตึงเครียด เกินกว่าสามัญชนจะทำได้เช่นนั้น ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใส มั่นใจว่าพระมหาบุรุษจะต้องได้ตรัสรู้โดยฉับพลัน และพระองค์จะได้ทรงเมตตาประทานธรรมเทศนาโปรดตนให้ตรัสรู้บ้าง แต่ครั้นเห็นพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยาที่ประพฤติแล้ว และเห็นร่วมกันว่า บัดนี้ พระองค์คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว จึงเบื่อหน่ายในการที่จะปฏิบัติบำรุงต่อไป ด้วยเห็นว่าพระองค์คงจะไม่อาจบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงพากันหลีกไปเสียจากที่นั้น ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

พระมหาบุรุษเมื่อทรงเลิกละทุกกรกิริยาแล้ว ก็ทรงเริ่มเสวยพระอาหารข้น บำรุงร่างกายให้กลับมีกำลังขึ้นได้เป็นปกติอย่างเดิมแล้ว ก็ทรงเริ่มทำความเพียรทางจิตต่อไป จนถึงราตรีวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เวลาบรรทมหลับ ทรงพระสุบิน ๕ ประการ คือ

๑. ทรงพระสุบินว่า พระองค์ทรงผทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนเขาหิมพานต์เป็นพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งคู่ก็หยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้

๒. ทรงพระสุบินว่า หญ้าแพรกเส้นหนึ่งรอกจากพระนาภี สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า

๓. ทรงพระสุบินว่า หมู่หนอนทั้งหลาย สีขาวบ้าง ดำบ้าง เป็นอันมาก ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งคู่ ปกปิดลำพระชงฆ์หมด และไต่ขึ้นมาถึงพระชานุมณฑล

๔. ทรงพระสุบินว่า ฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่าง ๆ กัน คือ สีเหลือง เขียว แดง ดำ บินมาแต่ทิศทั้ง ๔ ลงมาจับแท่นพระบาท แล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น

๕. ทรงพระสุบินว่า เสด็จขึ้นไปเดินจงกลมบนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นมิได้ทรงเปื้อนพระยุคลบาท

ในพระสุบินทั้ง ๕ ข้อนั้น มีอธิบายว่า

ข้อ ๑. พระมหาบุรุษเจ้าจะได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓

ข้อ ๒. พระมหาบุรุษจะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยมรรค ผล นิพพาน แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล

ข้อ ๓. คฤหัสถ์ พราหมณ์ทั้งหลาย จะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์เป็นอันมาก

ข้อ ๔. ชาวโลกทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทย์ เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะรู้ทั่วถึงธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดผ่องใสไปสิ้น

ข้อ ๕. ถึงแม้พระองค์จะพร้อมมูลด้วยสักการะวรามิศ ที่ชาวโลกทุกทิศน้อมถวายด้วยความเลื่อมใส ก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย

ครั้นพระมหาบุรุษตื่นผทมแล้ว ก็ทรงดำริถึงข้อความในพระมหาสุบินทั้ง ๕ แล้วทำนายด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้ ครั้นได้ทรงทำสรีระกิจ สระสรงพระกายหมดจดแล้ว ก็เสด็จมาประทับนั่ง ณ ที่ควงไม้นิโครธพฤกษ์ ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขะปุรณมี ดิถีกลางเดือน ๖ ปีระกา

นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส
ประจวบด้วยวันวาน เป็นวันที่นางสุชาดา ธิดาของคฤหบดีผู้มั่งคั่งในตำบลนั้น นางได้ตั้งปณิธานบูชาเทพารักษ์ไว้ว่า ขอให้นางได้สามีที่มีตระกูลเสมอกัน และขอให้ได้บุตรคนแรกเป็นชาย ครั้นนางได้สามีและบุตรสมนึก นางจึงคิดจะหุงข้าวมธุปายาสอันประณีตด้วยเครื่องปรุงทุกประการ ไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่ได้ไปบนบานไว้ ดังนั้นในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ จึงสั่งให้บ่าวไพร่ตระเตรียมการทำข้าวปายาสเป็นการใหญ่ และกว่าจะสำเร็จเป็นข้าวปายาสได้ ก็ตกถึงเพลาเที่ยงคืน แล้วนางสุชาดาจึงสั่งนางปุณณทาสี หญิงคนใช้ที่สนิทให้ออกไปทำความสะอาด แผ้วกวาดที่โคนต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เพื่อจะได้จัดเป็นที่ตั้งเครื่องสังเวยเทพารักษ์

ดังนั้น นางปุณณทาสี จึงได้ตื่นแต่เช้า เดินทางไปยังต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เห็นพระมหาบุรุษทรงประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้นั้น ผันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางปาจินทิศ (ตะวันออก) มีรัศมีพระกายแผ่สร้านออกไปเป็นปริมณฑล งามยิ่งนัก นางก็นึกทึกทักตระหนักแน่ในจิตทันทีว่า วันนี้ เทพยดาเจ้าลงจากต้นไทรงาม นั่งคอยรับข้าวปายาสของสังเวยของเจ้าแม่ด้วยมือทีเดียว นางก็ดีใจรีบกลับมายังเรือน บอกนางสุชาดาละล่ำละลักว่า เทพารักษ์ที่เจ้าแม่มุ่งทำพลีกรรมสังเวยนั้น บัดนี้ ได้มานั่งรอเจ้าแม่อยู่ที่ควงไม้ไทรแล้ว ขอให้เจ้าแม่รีบไปเถอะ

นางสุชาดามีความปลาบปลื้มกล่าวว่า ขอให้เจ้าเป็นลูกคนโตของแม่เถิด แล้วจึงมอบเครื่องประดับแก่นางปุณณทาสี และให้หยิบถาดทองมา ๒ ถาด ถาดหนึ่งใส่ข้าวปายาสจนหมด มิได้เหลือเศษไว้เลย ข้าวปายาสเต็มถาดพอดี แล้วให้ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง แล้วห่อหุ้มด้วยผ้าทองอันบริสุทธิ์ ครั้นนางสุชาดาแต่งกายงามด้วยอาภรณ์เสร็จแล้ว ก็ยกถาดข้าวปายาสขึ้นทูลเหนือเศียรเกล้าของนาง ลงจากเรือนพร้อมด้วยหญิงคนใช้เป็นบริวารติดตามมาเป็นอันมาก ครั้นถึงต้นไทรเห็นพระมหาบุรุษงามด้วยรัศมีดังนั้น ก็มีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดาโดยแท้ เดินยอบกายเข้าไปเฝ้าแต่ไกลด้วยคารวะ ครั้นเข้าไปใกล้จึงน้อมถาดข้าวปายาสถวายด้วยความเคารพยิ่ง

ขณะนั้น บาตรดินอันเป็นทิพย์ ซึ่งฆฏิการพรหมถวายแต่วันแรกทรงบรรพชา เกิดอันตรธานหายไปจากที่นั้น พระมหาบุรุษก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกรับ แล้วทอดพระเนตรดูนางสุชาดา แสดงให้นางรู้ชัดว่า พระองค์ไม่มีบาตรจะถ่ายใส่ข้าวปายาสไว้ นางสุชาดาทราบชัดโดยพระอาการ ก็กราบทูลว่า หม่อมฉันขอถวายทั้งถาด พระองค์มีพระประสงค์ประการใด โปรดนำไปตามพระหฤทัยเถิด แล้วถวายอภิวาททูลอีกว่า ความปรารถนาของหม่อมฉันสำเร็จฉันใด ขอสิ่งซึ่งพระหฤทัยของพระองค์ประสงค์จงสำเร็จฉันนั้นเถิด แล้วนางก็ก้มลงกราบ ถวายบังคมลา กลับเรือนด้วยความสุขใจเป็นล้นพ้น

ส่วนพระมหาบุรุษ เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงถือถาดข้าวปายาส เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับบ่ายพระพักตรสู่บุรพาทิศแล้ว ทรงปั้นข้าวปายาสเป็นปั้น ๆ ได้ ๔๙ ปั้น เสวยจนหมด แล้วทรงถือถาดลงสู่แม่น้ำ ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเสกสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป แล้วทรงลอยถาดทองนั้นลงในแม่น้ำเนรัญชรา ขณะนั้นอานุภาพพระบารมีของพระองค์ซึ่งทรงบำเพ็ญมาบริบูรณ์ดีแล้ว ได้แสดงให้เห็นอัศจรรย์ ถาดทองนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำเนรัญชราขึ้นไปประมาณ ๑ เส้น แล้วถาดทองนั้นก็จมลงตรงนาคภพพิมาน แห่งพญากาฬนาคราช

ครั้นพระมหาบุรุษได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นนิมิตอันดีเช่นนั้น ก็เพิ่มความแน่พระทัยว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า โดยหาความสงสัยมิได้ ก็ทรงโสมนัสเสด็จมายังสาลวัน ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับพักที่ภายใต้ร่มไม้สาลพฤกษ์ พอเวลาสายันห์ตะวันบ่าย ก็เสด็จออกจากหมู่ไม้สาละ ที่พักกลางวัน เสด็จดำเนินไปสู่ควงไม้อสัตถะโพธิพฤกษ์มณฑล พบโสตถิยะพราหมณ์ในระหว่างทาง โสถิยะพราหมณ์เลื่อมใส น้อมถวายหญ้าคา ๘ กำ

พระมหาบุรุษรับหญ้าคาแล้ว เสด็จไปร่มไม้อสัตถนั้น ณ ด้านปราจินทิศ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอจงเกิดเป็นรัตนบัลลังก์แก้วขึ้นรองรับพระสัพพัญญุตญาณในที่นี้ ทันใดนั้น บัลลังก์แก้วอันวิจิตรงามตะการ ก็บรรดาลผุดขึ้นสมดังพระทัยประสงค์ ควรจะอัศจรรย์ยิ่งนัก

ทรงตั้งสัตยาธิฐาน
พระมหาบุรุษเสด็จขึ้นประทับรัตนบัลลังก์แก้ว ขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ตรงไปยังปราจินทิศ หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นโพธิ์พฤกษ์ ก่อนที่จะเริ่มทำความเพียรโดยสมาธิจิต ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานในพระทัยว่า ถ้าอาตมายังมิได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด แม้พระโลหิตและพระมังสะจะเหือดแห้งไป จะเหลือแต่พระตจะ(หนัง) พระนหาลุ(เอ็น) และพระอัฏฐิ (กระดูก) ก็ตามที จะไม่เลิกละความเพียร โดยเสด็จลุกไปจากที่นี้

ครั้งนั้น เทพยดาทั้งหลายพากันชื่นชมโสมนัส มีหัตถ์ทรงซึ่งเครื่องสักการะบูชาบุบผามาลัยมีประการต่าง ๆ พากันมาสโมสรสันนิบาตห้อมล้อม โห่ร้องซ้องสาธุการบูชาพระมหาบุรุษ สุดที่จะประมาณ เต็มตลอดมงคลจักรวาฬนี้.

ขณะนั้น พญาวัสวดีมาราธิราช ได้สดับเสียงเทพเจ้าบันลือเสียงสาธุการ ก็ทราบชัดในพระทัยว่า พระมหาบุรุษจะตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ทำลายบ่วงมารที่เราวางขึงรึงรัดไว้ แล้วหลุดพ้นไปได้ ก็น้อยใจ คิดฤษยา เคียดแค้น ป่าวประกาศเรียกพลเสนามารมากกว่ามาก พร้อมด้วยสรรพาวุธและสรรพวาหนะที่ร้ายแรงเหลือที่จะประมาณเต็มไปในท้องฟ้า พญาวัสวดีขึ้นช้างพระที่นั่งคีรีเมขล์ นิรมิตมือพันมือ ถืออาวุธพร้อมสรรพ นำกองทัพอันแสนร้าย เหาะมาทางนภาลัยประเทศ เข้าล้อมเขตบัลลังก์ของพระมหาบุรุษเจ้าไว้อย่างแน่นหนา

ทันใดนั้นเอง บรรดาเทพเจ้าที่พากันมาห้อมล้อมถวายสักการะบูชาสาธุการพระมหาบุรุษอยู่ เมื่อได้เห็นพญามารยกพหลพลมารมาเป็นอันมาก ต่างมีความตกใจกลัวอกสั่นขวัญหาย พากันหนีไปยังขอบจักรวาฬ ทิ้งพระมหาบุรุษเจ้าให้ต่อสู้พญามารแต่พระองค์เดียว

เมื่อพระมหาบุรุษไม่ทรงแลเห็นผู้ใด ใครที่ไหนจะช่วยได้ ก็ทรงระลึกถึงบารมีธรรมทั้ง ๓๐ ประการ ซึ่งเป็นดุจทหารที่แก่นกล้า มีศัตราวุธครบครัน สามารถผจญกับหมู่มาร ขับไล่ให้ปราชัยหนีไปให้สิ้นเชิงได้ และพร้อมกันมารับอาสาอยู่พร้อมมูลเช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส ประทับนิ่งอยู่ โดยมิได้สะทกสะท้านแต่ประการใด

ทรงชนะมารด้วยพระบารมี ๓๐ ทัศ
ฝ่ายพญามารวัสวดีเห็นพระมหาบุรุษประทับนั่งนิ่ง มิได้หวั่นไหวแต่ประการใดก็พิโรธร้องประกาศก้อง ให้เสนามารรุกเข้าทำอันตรายหลายประการจนหมดฤทธิ์ บรรดาสรรพาวุธศัตรายาพิษที่พุ่งซัดไป ก็กลับกลายเป็นบุบผามาลัยบูชาพระมหาบุรุษจนสิ้น ครั้งนั้นพญามารตรัสแก่พระมหาบุรุษด้วยสันดานพาลว่า “ ดูกรสิทธัตถะ บัลลังก์แก้วนี้ เกิดเพื่อบุญเรา เป็นของสำหรับเรา ท่านเป็นคนไม่มีบุญ ไม่สมควรจะนั่ง จงลุกไปเสียโดยเร็ว "

พระมหาบุรุษหน่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ตรัสตอบว่า "ดูกรพญามาร บัลลังก์แก้วนี้ เกิดขึ้นด้วยบุญของอาตมา ที่ได้บำเพ็ญมาแต่อสังไขยยกัปป์ จะนับจะประมาณมิได้ ดังนั้น อาตมาผู้เดียวเท่านั้น สมควรจะนั่ง ผู้อื่นไม่สมควรเลย"

พญามารก็คัดค้านว่า ที่พระมหาบุรุษรับสั่งมานั้น ไม่เป็นความจริง ให้พระองค์หาพยานมายืนยันว่า พระองค์ได้บำเพ็ญกุศลมาจริง ให้ประจักษ์เป็นสักขีพยานในที่นี้

เมื่อพระมหาบุรุษไม่เห็นผู้อื่นใด ใครจะกล้ามาเป็นพยานยืนยันในที่นี้ได้ จึงตรัสเรียกนางวสุนธรา เจ้าแห่งธรณีว่า "ดูกร วสุนธรา นางจงมาเป็นพยานในการบำเพ็ญกุศลของอาตมาในกาลบัดนี้ด้วยเถิด"

ลำดับนั้น วสุนธรา เจ้าแม่ธรณี ก็ชำแรกแทรกพื้นปฐพีขึ้นมาปรากฏกาย ทำอัญชลีถวายอภิวาทพระมหาบุรุษเจ้าแล้ว ประกาศให้พญามารทราบว่า พระมหาบุรุษ เมื่อเป็นพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้บำเพ็ญบุญมามากมายตลอดกาล เหลือที่จะนับจะประมาณได้ แต่น้ำตรวจที่ข้าพเจ้าเอามวยผมรองรับไว้บนเศียรเกล้า ก็มีมากพอจะถือไว้เป็นหลักฐานวินิจฉัยได้ นางวสุนธรากล่าวแล้วก็ประจงหัตถ์อันงามปล่อยมวยผม บีบน้ำตรวจที่สะสมไว้ในอเนกชาติให้ไหลหลั่งออกมาเป็นทะเลหลวง กระแสน้ำบ่าออกท่วมทับเสนามารทั้งปวงให้จมลงวอดวาย กำลังน้ำได้ทุ่มซัดพัดช้างนาฬาคีรีเมขล์ให้ถอยล่นลงไปติดขอบจักรวาฬ

ครั้งนั้น พญามารตกตลึงเห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยมิได้เคยเห็นมาแต่กาลก่อน ก็ประนมหัตถ์ถวายนมัสการ ยอมปราชัยพ่ายแพ้บุญบารมีของพระมหาบุรุษ แล้วก็อันตรธานหนีไปจากที่นั้น

เมื่อพระมหาบุรุษทรงกำจัดมารและเสนามารให้ปราชัยด้วยพระบารมี ตั้งแต่เวลาสายัณห์มิทันที่พระอาทิตย์จะอัศดงคต ก็ทรงเบิกบานพระทัย ได้ปิติเป็นกำลังภายในสนับสนุน เพิ่มพูนแรงปฏิบัติสมาธิภาวนาให้ยิ่งขึ้น ดังนั้น พระมหาบุรุษจึงมิได้ทรงพักให้เสียเวลา ทรงเจริญสมาธิภาวนา ทำจิตให้แน่วแน่ ปราศจากอุปกิเลส จนจิตสุขุมเข้าโดยลำดับ ไม่ช้าก็ได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน ซึ่งเป็นส่วนรูปสมาบัติ เป็นลำดับ จนถึงอรูปสมาบัติ ๔ บริบูรณ์.

ทรงบรรลุญาณ ๓
ต่อนั้น ก็ทรงเจริญฌาน อันเป็นองค์ปัญญาชั้นสูงทั้ง ๓ ประการ ยังองค์พระโพธิญาณให้เกิดขึ้นเป็นลำดับ ตามระยะกาลแห่งยามสามอันเป็นส่วนราตรีนั้น คือ ในปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ สามารถระลึกชาติที่พระองค์ทรงบังเกิดมาแล้วทั้งสิ้นได้ ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ บางแห่งเรียกว่า ทิพพจักษุ สามารถหยั่งรู้การเกิดการตาย ตลอดจนการเวียนว่ายของสัตว์ทั้งหลายอื่นได้หมด ในปัจฉิมยาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงปรีชาสามารถทำอาสวะกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไปด้วยพระปัญญา พิจารณาในปัจจยาการแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลม ก็ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาปัจจุบันสมัย รุ่งอรุโณทัย ทรงเบิกบานพระหฤทัยอย่างสูงสุดในการตรัสรู้ อย่างที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อนตลอดกาล ถึงกับทรงอุทาน เย้ยตัณหา อันเป็นตัวการณ์ก่อให้เกิดสังสารวัฏฏทุกข์แก่พระองค์แต่เอนกชาติได้ว่า "อเนกชาติ สํสารํ เป็นอาทิ ความว่า นับแต่ตถาคตท่องเทียว สืบเสาะหาตัวนายช่างผู้กระทำเรือน คือ ตัวตัณหา ตลอดชาติสงสารจะนับประมาณมิได้ ก็มิได้พบพาน ดูกรตัณหา นายช่างเรือน บัดนี้ ตถาคตพบท่านแล้ว แต่นี้สืบไป ท่านจะทำเรือนให้ตถาคตอีกไม่ได้แล้ว กลอนเรือน เราก็รื้อออกเสียแล้ว ช่อฟ้า เราก็ทำลายเสียแล้ว จิตของเราปราศจากสังขาร เครื่องปรุงแต่งให้เกิดในภพอื่นเสียแล้ว ได้ถึงความดับสูญสิ้นไปแห่งตัณหา อันหาส่วนเหลือมิได้โดยแท้"

ขณะนั้น อัศจรรย์ก็บังเกิดมี พื้นมหาปฐพีอันกว้างใหญ่ก็หวั่นไหว พฤษาชาติทั้งหลายก็ผลิตดอกออกช่องามตระการตา เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าก็แซ่สร้องสาธุการ โปรยปรายบุบผามาลัยทำการสักการะบูชา เปล่งวาจาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ด้วยปีติยินดี เป็นอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีในกาลก่อน

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงประทับเสวยวิมุติสุขบนรัตนบัลลังก์นั้นสิ้น ๗ วัน ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว จึงเสด็จลงจากรัตนบัลลังก์ ไปประทับอยู่ในทิศอิสานแห่งไม้มหาโพธิ์ จ้องพระเนตรดูไม้มหาโพธิ์ถึง ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า "อนิมิสเจดีย์" ต่อนั้น ทรงนิมิตรัตนจงกรมเจดีย์ เสด็จจงกรมในทิศอุดรแห่งไม้มหาโพธิ์ และทรงจงกรมอยู่ที่นี้อีก ๗ วัน ต่อนั้นก็เสด็จไปประทับนั่งยังรัตนะฆระเจดีย์ เรือนแก้ว ในทิศปัจจิม หรือทิศพายัพ แห่งไม้มหาโพธิ์ ซึ่งเทพยดานิมิตถวาย ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกตลอด ๗ วัน ต่อนั้น จึงเสด็จไปประทับยังร่มไทร ซึ่งเป็นที่อาศัยพักร่มของคนเลี้ยงแพะ อันมีนามว่า อชปาลนิโครธ

ทรงขับนางมาร
ครั้งนั้น พญาวัสวดีมาร มีความน้อยใจ ที่ต้องปราชัยพ่ายแพ้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อับอายแก่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่ต้องยอมให้พระสิทธัตถะล่วงพ้นจากวิสัยของตนไปได้ มีใจโทมนัส จึงหนีออกจากเทวโลก ลงมานั่งในทางใหญ่แห่งหนึ่ง

ขณะนั้น นางมารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นาราคา นางอรดี มิได้เห็นพญาวัสวดีมาร ผู้เป็นบิดาอยู่ในเทวโลก ครั้นแลลงมาด้วยทิพพจักษุ ก็เห็นพระบิดาไปนั่งอยู่ที่ทางใหญ่ในมนุษย์โลก นางทั้ง ๓ จึงพากันมาหาพญาวัสวดีมาร แล้วทูลถามว่า พระบิดาทรงทุกข์ด้วยเหตุประการใด พญามารก็แจ้งความจริงใจแก่ธิดาทั้ง ๓ นั้น นางมารธิดาทั้ง ๓ จึงทูลว่า พระบิดาอย่าทรงทุกข์ร้อนไปเลย ข้าพเจ้าทั้ง ๓ จะรับอาสาไปทำพระสิทธัตถะให้อยู่ในอำนาจ แล้วจะนำมาถวายพระองค์ให้จงได้

พญามารจึงตรัสว่า "ลูกเอ๋ย แต่นี้ไป ไม่มีผู้ใดจะสามารถทำพระสิทธัตถะให้อยู่ในอำนาจเสียแล้ว"

นางมารธิดาก็แย้งว่า ข้าพเจ้าทั้ง ๓ คงจะพันธนาการพระสิทธัตถะด้วยบ่วง มีราคะเป็นต้น ให้อยู่ได้ เพราะข้าพเจ้าเป็นสตรี จะพยายามไปผูกพระสิทธัตถะมาให้จงได้ในกาลบัดนี้ พระองค์อย่าทรงวิตกไปเลย แล้วนางมารทั้ง ๓ ก็ทูลลาพระบิดามาสู่สำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประทับนั่งอยู่ที่ร่มไม้อชปาลนิโครธ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ หม่อมฉันจะบำเรอพระยุคลบาทของพระองค์ถวาย

ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิได้ทรงเอาพระทัยใส่ในถ้อยคำของนางมารธิดาทั้ง ๓ นั้น ทั้งมิได้ทรงลืมพระเนตรขึ้นทัศนาการดูทีท่าของธิดามารทั้ง ๓ ทรงดุษณียภาพนิ่งอยู่เป็นปกติ

นางมารก็ดำริว่า ธรรมดาบุรุษย่อมมีอัธยาสัยเสน่หาในสตรีที่มีสรีระรูปผิวพรรณสัณฐานต่าง ๆ กัน แล้วต่างก็นิมิตเป็นนางงามต่าง ๆ แสดงท่าทางโดยมุ่งหมายจะให้เป็นที่ต้องพระทัยปรารถนา เข้าทูลเล้าโลมดุจกาลก่อน ครั้นเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงตรัสประการใด ก็แสดงมายาหญิง โดยอาการพิลาศ ชำเลืองเนตร ฟ้อนรำ ขับร้องมีประการต่าง ๆ ทุกวิธีที่เห็นว่าจะคล้องน้ำพระทัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้น้ำพระทัยของพระองค์ผิดปกติ

ลำดับนั้น พระสัมพุทธเจ้าจึงออกพระโอฐขับมารธิดาว่า "มารธิดาเอย เจ้าจงออกไปเสียให้พ้นจากที่นี้ เจ้าจะได้ประโยชน์อะไร ในการที่มาพยายามเล้าโลมตถาคต ด้วยทุกสิ่งที่เจ้ามุ่งหมายนั้น ตถาคตได้ทำลายเสียแล้ว เจ้าควรจะไปประเล้าประโลมบุรุษผู้มีราคะบริบูรณ์ เมื่อตถาคตไม่มีร่องรอยอะไรเลย แล้วจะนำตถาคตไปด้วยร่องรอยอะไร ไม่เป็นผลที่มุ่งหมายอันใดแก่เจ้าดอก จงออกไปเสีย"

ในทันใดนั้นเอง ด้วยอานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรดาลให้ร่างกายอันงามของมารธิดาทั้ง ๓ นาง ซึ่งไม่เชื่อฟังพระโอวาท พยายามออดอ้อนอิดเอื้อนอยู่อีก ได้กลับกลายร่างเป็นหญิงชรา น่าสังเวช นางทั้ง ๓ เมื่อได้เห็นร่างกายของตนเปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้นก็ตกใจ พากันหนีออกจากที่นั้นโดยเร็ว และกล่าวกันว่า เป็นความจริงดังพระบิดาของเราได้เตือนแล้วแต่แรกว่า ไม่มีใครที่จะมาทำพระสิทธัตถะให้อยู่ในอำนาจได้แล้ว ก็อันตรธานไปจากที่นั้น

ต่อมามีพราหมณ์ผู้หนึ่ง มีนิสัยเป็นหุหุกชาติ ชอบตวาดข่มขี่ผู้อื่นด้วยวาจาว่า หึ หึ มายังที่นั้น ได้ทูลถามถึงพราหมณ์และธรรม อันทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ว่า "บุคคล ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่าไร และธรรมอะไร ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์"

พระองค์ตรัสตอบว่า "พราหมณ์ ผู้ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องขู่ผู้อื่นว่า หึ หึ เป็นคำหยาบ และไม่มีกิเลสอันย้อมจิตให้ติดแน่นดุจน้ำฝาด มีตนสำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวทแล้ว มีพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว ผู้นั้น ไม่มีกิเลสเครื่องฟูในโลก แม้น้อยหนึ่ง ควรกล่าวได้ว่าตนเป็นพราหมณ์ โดยธรรม"

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงสมณะว่า เป็นพราหมณ์ และธรรมอันทำบุคคลให้เป็นสมณะว่า เป็นธรรมอันทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ในพระพุทธศาสนา โดยโวหารพราหมณ์ ด้วยพระวาจานี้

0 comments:

Post a Comment

free counters