22 May 2009

“พระพุทธศาสนาสมัยสุโขทัย”


ในราว พ.ศ. ๑๘๐๐ หัวหน้าคนไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาคือพ่อขุนบางกลางท่าว ได้ประกาศเอกราช ขับไล่อิทธิพลของเขมรออกไป แล้วตั้งนครสุโขทัยเป็นราชธานี ทรงพระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงเป็นต้น ราชวงศ์พระร่วง ได้สืบสายต่อมาอีกราว ๑๒๑ ปี จึงเสียเอกราชให้กับไทยอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๑ พระพุทธ ศาสนาในยุคสุโขทัยนี้คงมีทั้งลัทธิเถรวาท ลัทธิมหายานปะปนกัน จนถึงรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกษัตริย์องค์ที่ ๓ ของราชวงศ์พระร่วง (๑๘๒๐-๑๘๖๐) ทรงสดับกิตติคุณความเคร่งครัดของคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ที่เมือง นครศรีธรรมราช จึงโปรดให้นิมนต์คณะสงฆ์ลังกาขึ้นมาตั้งลังกาวงศ์ขึ้นที่กรุงสุโขทัย เข้าใจว่าพระไตรปิฎกภาษา บาลีฝ่ายเถรวาทพร้อมทั้งอรรถกถา และปกรณ์วิเศษอื่น ๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานอยู่จนสืบมาบัดนี้ ไทยจะได้จาก ลังกาในระยะนี้ เมื่อพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ขึ้นมาประดิษฐานที่สุโขทัยแล้ว ลัทธิเถรวาทแบบ มอญเก่าก็ดี ลัทธิมหายานก็ดีค่อย ๆ สลายตัวเองหมดไป พระสงฆ์ทั้งไทยสุโขทัย ไทยลานนา เขมร และมอญ พากันไปบวชเรียนในลังกามากขึ้น จึงทำให้เกิดสมณวงศ์แบบลังกาวงศ์ขึ้นหลายสายและสัมพันธ์กันโดยใกล้ชิด ลัทธิเถรวาทแบบเก่าครั้งทวาราวดีและลัทธิมหายานก็ค่อย ๆ สลายตัวไป จึงเป็นอันยุติได้ว่าในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ประเทศต่าง ๆ มีไทย พม่า เขมร มอญ ลาว ได้เปลี่ยนเป็นนับถือลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์หมด

ลุถึงรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๕ ในราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. ๑๘๙๗- ๑๙๑๙) ได้เสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดป่ามะม่วงอยู่ชั่วระยะกาลหนึ่ง นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ของไทยซึ่งผนวชในพระพุทธศาสนาในขณะที่ขึ้นเสวยราชย์แล้ว พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงศึกษาพระไตรปิฎก แตกฉานถึงกับสามารถพระราชนิพนธ์ “เตภูมิกถา” (เรียกกันปัจจุบันว่า ไตรภูมิพระร่วง) ซึ่งพรรณาถึงเรื่องของ กามภูมิ, รูปภูมิ, อรูปภูมิ และกุศลอกุศลกรรมของส่ำสัตว์ที่จะพาให้ไปเสวยสุขหรือเสวยทุกข์ในภูมินั้น ๆ อย่างละเอียด พระปฏิมาพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกก็ถือกันว่าสร้างขึ้นในแผ่นดินนี้ เมื่อสิ้นรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยแล้ว สุโขทัยก็เสื่อมอำนาจลง ที่สุดต้องตกเป็นประเทศราชของไทยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๑ และอีก ๖๐ ปีเศษต่อมาก็ถูกผนวกเป็นหัวเมืองอันหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยาไป

0 comments:

Post a Comment

free counters